‘อยากเริ่มต้นงานเขียนสักชิ้นต้องทำอย่างไร ?’
เป็นคำถามของผู้ที่อยากมีงานเขียนเป็นของตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี หรือผู้ที่อ่านมาเยอะแล้วจึงอยากลงมือเขียนด้วยตัวเองบ้าง ติดอยู่ที่ว่าจะเขียนอะไรดี แล้วจะเริ่มต้นเขียนยังไง วันนี้แจ่มใสพามาไขข้อข้องใจและแนะนำมือใหม่ที่มีความสนใจอยากเขียนโดยกองบรรณาธิการแจ่มใสค่ะ
แนวทางการสร้างงานเขียนของตัวเอง
1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน
ก่อนอื่นเลยตัวเราควรสำรวจตัวเองโดยต้องรู้ก่อนว่าอยากเขียนอะไร เขียนให้กับใครอ่าน (กลุ่มคนอ่านคือใคร) มีรูปแบบการนำเสนองานเขียนนั้นอย่างไร รวมทั้งควรกำหนดระยะเวลาของการเขียน เช่น เขียนนิยายรักหนึ่งเรื่องจะเริ่มวันไหนและจะเขียนเสร็จเมื่อไร ทั้งหมดลองเขียนเป็นแผนงานออกมาก่อนนะคะ
2. กำหนดเค้าโครงเรื่อง
หลังจากที่ได้แผนงานในข้อหนึ่งแล้วเริ่มลงรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าเป็นหนังสือวรรณกรรมหรือนิยาย ก็ควรเริ่มวางพล็อตเรื่องและตัวละครต่างๆ เอาไว้ หรือหากอยากลงดีเทลให้ละเอียดขึ้นว่าแต่ละตอนจะมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์แบบไหนเกิดขึ้นบ้าง ก็ให้เขียนทรีตเม้นต์ละเอียดไว้เลยก็จะช่วยกำหนดทิศทางของเรื่องเราได้ง่ายขึ้นค่ะ แต่หากเป็นหนังสืออื่นๆ เช่น หนังสือวิชาการ ควรกำหนดเนื้อหาว่าจะมีกี่บท แต่ละบทจะเขียนถึงอะไรบ้าง ในขั้นตอนนี้เพื่อนๆ จะเริ่มรู้แล้วค่ะว่างานเขียนของเราจะมีเนื้อหายาวประมาณไหน
3. หาข้อมูล / วัตถุดิบ
จากพล็อตและทรีตเม้นต์ที่วางไว้ ผู้เขียนจะทราบแล้วว่าต้องการข้อมูลหรือวัตถุดิบอะไรมาใช้ในงานเขียน เช่น เอกสารประกอบ ต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไร หรือถ้าหากจะต้องมีการสัมภาษณ์บุคคล หรือเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก็เริ่มกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเลยว่าจะทำเมื่อไหร่ หรือจะต้องนัดหมายประสานงานกับใครบ้าง
4. ลงมือเขียน
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วเริ่มลงมือเขียนเลยค่ะ อย่าลืมให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลา เช่น สัปดาห์นึงจะเขียนได้กี่หน้า/บท สิ้นเดือนนี้จะต้องเขียนเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ จะเสร็จทั้งหมดเมื่อไหร่ เพื่อให้งานเขียนสามารถเสร็จได้ตามกำหนดและไม่ทิ้งเอาไว้จนลืมความรู้สึกก่อนเริ่มเขียนไปเสียก่อน
5. ขัดเกลาสำนวน
เมื่อเขียนจนเสร็จแล้ว ควรมีเวลานั่งอ่านต้นฉบับรวดเดียวให้จบเลย จะอ่านด้วยตัวเอง ให้เพื่อนช่วยอ่านและคอมเมนต์ผลงาน หรือตอนนี้สามารถโพสต์ผ่านทาง Social Media หรือบล็อกต่างๆ ให้ผู้อื่นช่วยอ่านได้ด้วย นอกจากนั้นควรตรวจสอบคำสะกดให้ถูกต้อง และขัดเกลาสำนวนในบางจุดเพื่อให้มีความสละสลวยทางภาษามากยิ่งขึ้น
6. เสนองาน
นำต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเสนอกับสำนักพิมพ์ หรือในปัจจุบันมีเว็บไซต์ออนไลน์ เพื่อนๆ สามารถนำผลงานไปเผยแพร่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ในปัจจุบัน
หากนำเสนอแก่สำนักพิมพ์ให้สอบถามให้ชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาในการพิจารณางานของคุณนานเท่าใด หากต้องการทราบความคืบหน้าให้สอบถามจากใคร พร้อมทั้งขอรายละเอียดในการติดต่อไว้ค่ะ
7. ติดตามผล
เพื่อให้ทราบว่าผลงานของเราเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนๆ สามารถสอบถามความคืบหน้า เพื่อให้เราทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
8. ประชาสัมพันธ์
หากผลงานของเพื่อนๆ ผ่านการพิจารณาแล้ว สามารถประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผลงานของเราเป็นที่รู้จักและมีฐานแฟนคลับรอติดตามผลงานอยู่
สำหรับข้อมูลการเตรียมตัวเพื่อเริ่มงานเขียนสักชิ้นจากกองบรรณาธิการแจ่มใส คงเป็นประโยชน์ในการเริ่มต้นเขียนได้ไม่มากก็น้อยนะคะ แจ่มใสหวังว่าจะได้อ่านนิยายเรื่องใหม่จากผู้ที่เข้ามาอ่านความรู้ดีๆ นี้ และหากนำไปเขียนจนมีผลงานออกมา อย่าลืมกลับมาพูดคุยให้แจ่มใสฟังด้วยนะคะ แจ่มใสจะยินดีด้วยมากๆ ค่ะ และจะนำข้อมูลดีๆ แบบนี้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆ อีกต่อไป สามากลับมารับข่าวสารและความรู้ดีๆ แบบนี้ได้ทาง www.jamsai.com ค่ะ
Comments
comments
No tags for this post.