ทำไมคนไทยถึงรักพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ยิ่งกว่าชีวิต เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนสามารถตอบได้โดยใช้หัวใจ
เรารักพระองค์ท่าน เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาวไทยนั้นช่างมากมายเหลือคณานับ ไม่แปลกใจที่คนไทยทุกคต่างภูมิใจที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9 และอยากบอกเล่าเรื่องราวความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่านให้ลูกหลานที่ยังเล็กอยู่ได้รับรู้ความดีของพระองค์ท่าน รวมทั้งพระราชประวัติของพระองค์ก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งไม่แพ้กัน
ทรงพระราชสมภพ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระนามเดิมว่า ‘พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช’
- พระนามของพระองค์มีความหมายดังนี้ ภูมิ หมายถึง แผ่นดิน และ พล หมายถึง พลัง รวมกันแล้ว ภูมิพล จึงหมายความว่า พลังแห่งแผ่นดิน ส่วน อดุลย หมายถึง ไม่อาจเทียบได้ และ เดช หมายถึง อำนาจ รวมกันแล้ว อดุลยเดช จึงหมายความว่า อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้
- ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์และหม่อมสังวาลย์ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า)
- ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น รัฐเมสสาชูเขตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาต่ออยู่ที่นั่น
- ทรงมีพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า ‘เล็ก’
- เมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร
- ทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์
- ในปี พ.ศ.2478 ได้ทรงเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอลนูแวลเดอลาซูอิสรอม็องด์ เมืองชายีซูร์โลซาน
- ทรงมีความเชี่ยวชาญหลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน
- ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลซานน์
- ในปี พ.ศ.2481 ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
ขึ้นครองราชย์
- เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ขณะที่พระองค์มีพระชนมพรรษา 18 พรรษา รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
- ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ และรัฐบาลได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์
- เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์
- แม้พระองค์จะทรงโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์แต่เพื่อประโยชน์ ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาการปกครองแทน เช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ภูมิศาสตร์
- ทรงศึกษาและฝึกฝนการเล่นดนตรีด้วยพระองค์เอง
ทรงประสบอุบัติเหตุ
- ในปี พ.ศ.2491 ระหว่างทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากรเป็นครั้งแรก
- ในปีเดียวกันนั้นพระองค์ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง ทรงบาดเจ็บที่พระพักตร์ พระเนตรขวา และพระเศียร ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์ โดยแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
- ในช่วงที่พระองค์ทรงบาดเจ็บ โปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มาเฝ้าฯ ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด นั่นทำให้พระสัมพันธภาพแน่นแฟ้นขึ้น
- ทรงหมั้นหมายกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492
- วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 พระราชดำเนินกลับประเทศไทย โปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล(รัชกาลที่ 8) ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ.2493
- วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรที่วังสระปทุม และทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน นอกจากนี้ได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
- หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน สถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรก นั่นก็คือ การพระราชทานถนนสายห้วยมงคลให้แก่ลุงรวยและชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน
- สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นจากพระดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆภายในประเทศทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ไขปัญหาระยะยาว ทรงเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2493 ตลอดรัชสมัยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด 4,447 โครงการ โดยมีหน่วยงานราชการพิเศษที่ประสานงานโครงการคือสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบรมราชาภิเษก
- วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร’ และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม’
- ในวันเดียวกันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
- วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อทรงรักษาพระสุขภาพ
- เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2494 ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระที่นั่งอัมพรสถาน
ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดาและพระราชโอรส 4 พระองค์
- ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงพระผนวช
- เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติพระศาสนกิจ เป็นเวลา 15 วัน
- ในช่วงระหว่างนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
พระราชกรณียกิจ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระราชชนนี จึงมีพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องและมีพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการซึ่งน้อมนำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติ เพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรมและราชสังคหวัตถุทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการเจิดจำรัส
- ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน จนเป็นที่รักของประชาชนชาวไทย
- นับตั้งแต่ พ.ศ.2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชียอยู่เรื่อยมา
- ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคและทรงมองเห็นปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจนและด้อยโอกาส เพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นมาโดยตลอด อย่างที่เราได้เห็นในข่าวพระราชสำนัก ซึ่งคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงขจัดทุกข์ยากและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย
- พระองค์ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท
- แม้ในยามประเทศประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนชาวไทยยึดถือเป็นต้นแบบมาจนถึงปัจจุบัน
พระอัจฉริยภาพ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีจนได้รับยกย่องเป็นอัครศิลปินของชาติอย่างสูงส่ง ด้วยทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันไพเราะนับแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวม 47 เพลง ซึ่งนักดนตรีทั้งไทย และต่างประเทศนำไปบรรเลงอย่างแพร่หลาย
- ทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมและวรรณกรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ เช่น ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่องติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และพระราชนิพนธ์เรื่องชาดกพระมหาชนก พระราชทานคติธรรมในการดำรงชีวิตให้ไปสู่ความสำเร็จ
- ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบ และได้รับรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ปัจจุบันคือซีเกมส์)
สวรรคต
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประทับรักษาพระอาการประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช มาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2557
- ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต่างก็เดินทางไป ณ โรงพยาบาลศิริราชเพื่อร่วมลงนามถวายพระพรให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวร และยังพร้อมใจกันสวมเสื้อสีชมพูซึ่งเป็นสีเสริมดวงพระราชสมภพของพระองค์อีกด้วย
- ในช่วงระยะหลังๆ พระอาการประชวรของพระองค์เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559
- นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของปวงชนชาวไทย
- ทางรัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี
ร่วมถวายสักการะพระบรมศพ
- สำหรับตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สำนักพระราชวังได้รับพระราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
- นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตและวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
- มีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560
- โดยเวลา 7.00 น. จะมีพระราชพิธีเชิญพระบรมศพมายังท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของพระเมรุมาศ
- ประชาชนชาวไทยเข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ได้ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ณ พระเมรุมาศจริง และเมรุมาศจำลอง 85 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในเขตกรุงเทพมหานคร 113 แห่ง และวัดในเขตต่างๆ 50 เขต
- เวลา 22.00 น. จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ kingrama9.th ซึ่งเป็นเว็บหลักของงานพระราชพิธีในครั้งนี้)
ขอบคุณข้อมูลพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 9 จาก คพร. และวิกิพีเดีย
Comments
comments