บทที่ 4
พอลับตาบิดากับพี่ๆ แล้วฮะจิน่าก็เดินลิ่วๆ ผ่านโรงรถที่มีรถของครอบครัว รวมทั้งรถของทางโรงแรมหลายคันจอดอยู่ ผ่านแท็กซี่แถวยาวเหยียดที่จอดรอนักท่องเที่ยวอยู่ด้านหน้า ออกไปยังถนนใหญ่โดยไม่หันกลับไปมองด้านหลัง ไม่สนใจว่าคนที่อยู่ในความดูแลบ่ายนี้จะตามมาหรือไม่
ชารีฟเดินตามหลังโดยทิ้งระยะห่างเล็กน้อย ออกจะแปลกใจในการกระทำของเธออยู่บ้าง แต่ก็ไม่คิดจะถามไถ่แต่อย่างไร
ทั้งคู่ยืนเคียงกันห่างๆ อยู่เงียบๆ ริมทางเท้าได้ไม่ถึงนาทีรถแท็กซี่คันเล็กสีเหลืองขนาดนั่งได้สามคนหรือที่เรียกว่าเพทที่ แท็กซี่ (Petit Taxi) ก็มาจอดอยู่ตรงหน้า
เมื่อทั้งสองขึ้นไปนั่งอยู่ตอนหลังและปิดประตูเรียบร้อยแล้วฮะจิน่าก็ชะโงกหน้าไปบอกจุดหมายที่ต้องการกับคนขับเป็นภาษาฝรั่งเศส
“ลา พลาส ซิบูเพล”
แล้วแท็กซี่คันเล็กก็เคลื่อนตัวออกไปทันที
ชารีฟที่พูดได้เพียงภาษาอารบิกแบบอียิปต์ เยอรมัน และอังกฤษ แต่เข้าใจภาษาฝรั่งเศสได้ไม่กี่คำ พอจะเดาได้ว่าฮะจิน่าบอกให้แท็กซี่ขับไปที่จัตุรัส…ลา พลาส ซึ่งก็น่าจะเป็นจัตุรัสเจอมา เอฟ น่า นั่นเอง
เนื่องจากประเทศโมร็อกโกเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศสในสมัยศตวรรษที่สิบแปด ดังนั้นแม้ว่าภาษาราชการของโมร็อกโกจะเป็นภาษาอารบิกแบบโมร็อกกัน มีภาษาเขียนเป็นอารบิกแบบคลาสสิก แต่ประชากรส่วนมากสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดี โดยเฉพาะคนที่ทำมาหากินอยู่กับนักท่องเที่ยว ส่วนภาษาอังกฤษนั้นคนที่พูดได้คล่องมีน้อยกว่า
สำหรับเขาแล้วถึงภาษาอารบิกแบบโมร็อกกันจะต่างจากภาษาอารบิกแบบอียิปต์อยู่บ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้โดยง่าย ชายหนุ่มจึงพอจะจับเค้าได้ว่าที่เธอจงใจพูดภาษาฝรั่งเศสนั้นก็คงจะเป็นเพราะอยากแกล้งเขานั่นเอง
…เด็กเอ๋ยเด็ก…
คิดได้ดังนั้นแล้วปากที่ขยับจะถามก็เลยปิดเงียบไม่สนใจคนข้างๆ อีก ดวงตาสีน้ำตาลอมเขียวมองออกไปนอกหน้าต่างยังทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางอย่างสบายใจ
ชารีฟได้ศึกษาข้อมูลมาก่อนจึงรู้ดีว่ามาร์ราเคชก็เหมือนกับเมืองเก่าของโมร็อกโกอีกหลายเมืองที่ตัวเมืองแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างเห็นได้ชัด คือส่วนเมืองใหม่ (New Town) หรือกีลีซ (Guélis) และส่วนเมืองเก่า (Old Town) หรือเมดิน่า (Medina)
กีลีซในมาร์ราเคชนี้สร้างขึ้นเพื่อกันให้คนฝรั่งเศสออกมาอยู่เป็นสัดส่วน เป็นการอนุรักษ์เมืองเก่าและเป็นการป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากชาวอาหรับหัวรุนแรงที่คอยฆ่าชาวฝรั่งเศสด้วย เมืองออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เฮนรี่ พลอส ในประมาณปี 1920 ตัวตึกส่วนใหญ่เป็นทรงเหลี่ยมเรียบง่ายสไตล์ฝรั่งเศส ถนนได้รับการวางแผนผังไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
แม้ว่าจะไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชม แต่ปัจจุบันนี้กีลีซกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยธนาคาร ร้านค้า บริษัทท่องเที่ยว อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหารดีๆ และโรงแรมมากมาย
แน่นอนว่าทั้งโรงแรมแอตลาสและโรงแรมใหม่ที่ทางฟารัวห์จะร่วมหุ้นด้วยก็อยู่ในเขตนี้เช่นกัน
นั่งกันเงียบๆ มาได้เกือบสิบนาทีรถแท็กซี่ก็เลี้ยวเข้ามาในถนนใหญ่ที่สองข้างทางเรียงรายด้วยร้านขายของที่ดูทันสมัย ผู้คนเดินกันแน่นขนัด ชารีฟอดยิ้มออกมาบางๆ ไม่ได้เมื่อเห็นร้านแมคโดนัลด์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการไปรษณีย์ มีเด็กวัยรุ่นนั่งกันอยู่เต็ม
…เออแน่ะ ขนาดในมาร์ราเคชนี่ก็ยังไม่วายมีร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดเข้าจนได้…
ฮะจิน่าที่คอยปรายตามองคนข้างๆ ขมวดคิ้วอย่างหมั่นไส้เมื่อเห็นรอยโค้งเล็กๆ บนมุมริมฝีปากบางนั่น
…มีความสุขเหลือเกินนะ…
แล้วในที่สุดตัวเธอเองนั่นแหละที่ทนความเงียบและอึดอัดไม่ไหวต้องหันไปพูดกับเขาก่อนอย่างพาลๆ
“นี่คุณ…ใจคอจะนั่งยิ้มกับข้างทางอยู่อย่างนี้ ไม่คิดจะพูดอะไรสักคำหรือไง”
ชารีฟเบือนหน้ากลับมามองดวงหน้าใสที่ดู ‘มุ่ย’ สนิท เลิกคิ้วถามเสียงเรียบ “ก็จะให้ผมพูดอะไรล่ะครับ คุณเป็นคนนำทางยังไม่พูดอะไรสักคำแล้วยังเดินลิ่วๆ อย่างกับจะหนีและทิ้งผมไว้ที่โรงแรมนั่นแหละ แถมจะพาผมไปไหนก็ไม่รู้”
“คุณบอกว่าอยากจะไปไหน ฉันก็พาคุณไปที่นั่นแหละค่ะ”
“ก็ดีแล้วนี่ครับ”
ชายหนุ่มตอบอย่างไม่ไว้น้ำใจ ทำให้ไกด์สาวจำเป็นหน้างอหนักเข้าไปอีก ส่งเสียง ‘ฮึ’ อยู่ในลำคอ
เห็นอย่างนั้นชารีฟก็ลอบถอนหายใจออกมา นึกๆ แล้วก็อยากจะเขกหัวตัวเองเป็นกำลัง…เขาจะไปทะเลาะกับเด็กทำไมกันนะ ดังนั้นชายหนุ่มจึงเอ่ยถามด้วยเสียงที่อ่อนลงว่า “ตอนนี้เราอยู่ที่ไหนกันครับคุณฮะจิน่า”
ฮะจิน่าฟังเสียงนุ่มทุ้มนั้นอย่างไม่เชื่อหู เอียงหน้ามองชายหนุ่มอย่างไม่ค่อยไว้วางใจเท่าไหร่ก่อนจะตอบโดยไม่มองหน้า หากเสียงอ่อนลงเล็กน้อย “ถนนโมฮัมเหม็ดไฟว์ (Ave. Mohammed V) ค่ะ เป็นถนนสายหลักจากกีลิซไปเมดิน่า อีกเดี๋ยวคุณก็จะเห็นคูโทวเบีย (Koutoubia)”
“คูโทวเบียงั้นหรือ”
“สุเหร่าคูโทวเบียน่ะค่ะ เป็นตึกที่สูงที่สุดในมาร์ราเคช แล้วก็เป็นสุเหร่าที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกาเหนือด้วย”
“แล้วทำไมถึงชื่อคูโทวเบีย…สุเหร่าของคนขายหนังสือล่ะครับ ชื่อแปลกดี”
“ในสมัยก่อนคูโทวเบียเป็นโรงเรียนที่สอนคัมภีร์อัลกุรอานด้วย รอบตัวสุเหร่าจึงมีร้านขายหนังสืออยู่เต็มไปหมด แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีให้เห็นแล้วละค่ะ อะ…นั่นไงคะ” ฮะจิน่าเอ่ยขึ้นพลางชี้นิ้วให้ชารีฟมองไปข้างหน้า
สิ่งก่อสร้างที่ตระหง่านอยู่ลิบๆ นั้นเป็นตัวตึกทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อเป็นแท่งสูงด้วยอิฐสีน้ำตาลอมชมพู ครึ่งบนแกะสลักเป็นลวดลายงดงามประดับด้วยกระเบื้องเซรามิกสีฟ้า ส่วนหลังคาเป็นโดมครึ่งวงกลมหยักคล้ายกับฟักทองสีขาวสะอาด มียอดคล้ายลูกบอลกลมสีทองเรียงกันอยู่สามลูก งดงามสง่าอยู่ท่ามกลางหมู่ต้นปาล์มสีเขียวเข้มจัด
“ที่เห็นเป็นมิเนเรต (Minaret) สูงเกือบเจ็ดสิบเจ็ดเมตรค่ะ ข้างในกว้างพอที่จะให้ม้าวิ่งขึ้นไปจนถึงยอดได้ด้วย”
“ดูอย่างนี้ไม่น่าจะกว้างพอเลยนะครับ”
“เราอยู่ไกล แล้วตัวตึกสูงก็เลยหลอกตามั้งคะ จริงๆ แล้วฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละสิบสองเมตรแน่ะค่ะ” ยิ้มออกมานิดหนึ่งแล้วก็พูดต่อว่า “เห็นลูกบอลกลมๆ บนยอดนั่นไหมคะ”
ชารีฟพยักหน้า “ครับ เป็นการประดับที่แปลกดี”
“ตามตำนานเล่าว่าของแท้ดั้งเดิมนั้นเป็นทองคำค่ะ ทำจากเครื่องประดับของมเหสีของสุลต่านที่แอบกินองุ่นไปสามลูกในช่วงรามาดัน (Ramadan) ฉันเห็นทีไรก็อดนึกไม่ได้ทุกทีว่าถ้าเอาเครื่องประดับทั้งหมดของเธอมาห้อยคอคงจะคอหักตาย หรือไม่เธอก็คงจะแข็งแรงมาก ตัวหนายิ่งกว่ายักษ์ปักหลั่น”
ฮะจิน่าพูดแล้วก็หัวเราะให้กับความคิดของตัวเอง หากเมื่อเห็นสีหน้าเรียบเฉยไม่บ่งบอกอารมณ์ใดๆ ของผู้ที่นั่งด้านข้างก็หยุดกึก อารมณ์ที่ดีขึ้นนิดหน่อยกลับไปขุ่นมัวเหมือนเดิม ค่อนชายหนุ่มอยู่ในใจ…คนอะไร ทำหน้าอย่างนั้นได้ทั้งวัน
เมื่อรถแท็กซี่เข้าใกล้ส่วนเมดิน่ามากยิ่งขึ้น การจราจรที่ค่อนข้างสับสนอยู่แล้วก็ยิ่งดูวุ่นวาย บนถนนใหญ่ของมาร์ราเคชมีพาหนะเกือบทุกชนิดที่จะจินตนาการได้ ตั้งแต่รถยนต์เก่าจนขึ้นสนิม รถกลางเก่ากลางใหม่ ไปจนถึงรถยุโรปหรูหรามันปลาบ รถจักรยานยนต์เครื่องแรงสูง รถกึ่งจักรยานยนต์กึ่งจักรยานหรือที่เรียกว่า ‘มัฟเฟต’ ไปจนถึงรถจักรยานธรรมดา นอกจากนั้นก็มีทั้งเกวียนลากด้วยม้า ลา หรือล่อ บรรทุกพืชผักผลผลิตทางการเกษตรเอาไว้เต็ม รวมไปถึงรถม้าคันงามสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้ชมเมืองอีกด้วย
ชารีฟเคยคิดว่าการจราจรในไคโรแย่ยิ่งยวดแล้ว มาเจอถนนในมาร์ราเคชเขายังต้องเปลี่ยนใจ อดพูดออกมาไม่ได้ว่า “ผมพอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมคุณถึงไม่ขับรถออกมาเอง”
ฮะจิน่าตอบหน้าตาย “แค่นี้ก็ทำคุณตะลึงแล้วหรือคะ ไม่อยากจะบอกว่านี่ยังน้อยนะ ไว้คุณมาช่วงเทศกาลบูชายัญแกะจะยิ่งสนุกสนานกว่านี้อีก”
ในทุกปีชาวโมร็อกกันจะมีเทศกาลบูชายัญแกะ ในระหว่างนั้นครอบครัวชาวโมร็อกกันจะต้องนำแกะมาอยู่ในบ้านด้วยเป็นเวลาสองอาทิตย์ก่อนจะนำไปฆ่าตามความเชื่อที่ว่าเป็นการล้างบาปแทนตัวพวกเขา
“คนโมร็อกกันส่วนมากยากจนค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะมีแค่มัฟเฟต นั่งกันทั้งครอบครัว พ่อขับ แม่ซ้อนท้าย มีลูกนั่งกลาง แต่ช่วงขนแกะกลับบ้าน พอมีแกะเป็นภาระด้วยแล้วเนี่ยก็จะเป็นพ่อขับ แม่ซ้อนท้าย ผูกลูกไว้ข้างหลัง แล้วมีแกะนั่งอยู่ตรงกลาง”
เมื่อคิดภาพตามนั้นแล้วทำให้ชารีฟอดยิ้มออกมานิดหนึ่งไม่ได้ มันคงจะเป็นภาพที่ทั้งขบขันทั้งโกลาหลพิลึก
“แล้วบางครอบครัวที่มีรถนะคะ พ่อขับรถ แม่กับลูกนั่งข้างหลัง ส่วนผู้โดยสารข้างคนขับที่ถูกคาดเข็มขัดนิรภัยเอาไว้อย่างดีนั้นเป็นแกะค่ะ”
พอฮะจิน่าเล่ามาถึงตรงนี้แล้วคนฟังก็หัวเราะออกมานิดหนึ่งซึ่งทำให้คนเล่าแสร้งดัดเสียงสูงและตาโตอย่างประหลาดใจ
“เพิ่งรู้ว่าคุณหัวเราะเป็นด้วย”
เท่านั้นคนที่กำลังหัวเราะเบาๆ อยู่ก็หุบปากทันที ปล่อยให้ฮะจิน่ายิ้มอย่างสะใจอยู่คนเดียวที่ได้แก้แค้นเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง
ไม่นานนักรถแท็กซี่คันเล็กก็มาหยุดอยู่ที่กลางจัตุรัสกว้างขวาง โอบด้วยแผงรถเข็นขายน้ำส้มคั้นสดๆ และผลไม้ตากแห้งอย่างอินทผลัม กล้วย และถั่วนานาชนิด กึ่งกลางเต็มไปด้วยฝูงชนที่มุงอะไรกันอยู่เป็นหย่อมๆ ฮะจิน่าจัดการจ่ายเงินแล้วก็พาชารีฟมายืนอยู่ด้านข้าง
อากาศช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงต้นของฤดูหนาวแต่มาร์ราเคชยังคงอบอุ่น อุณหภูมิอยู่ที่ 16-17 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสวย แสงแดดเจิดจ้าแจ่มใส บรรยากาศรอบข้างดูคึกคัก ตัวตึกรอบข้างเป็นสีน้ำตาลอมชมพูอันเป็นสีของเมืองมาร์ราเคชที่ดูกลมกลืนกันไปหมด
“นี่ละค่ะ เจอมา เอฟ น่า (Jemaa el Fna) ที่ได้รับคำกล่าวขานว่าเป็นเสมือนจังหวะหัวใจที่เต้นเป็นเสียงดนตรีของมาร์ราเคช” ฮะจิน่ากล่าวพร้อมกับมองไปรอบๆ ด้วยรอยยิ้ม
“เจอมา เอฟ น่า หรือ ‘การชุมนุมของคนตาย’ ได้รับการตั้งชื่ออย่างนี้เพื่อเป็นเกียรติน่ะค่ะ เพราะสมัยก่อนที่นี่เคยเป็นลานประหารนักโทษ ศีรษะของนักโทษที่ถูกตัดคอแล้วก็จะถูกเอามาประดับบนกำแพงรอบข้างค่ะ”
อธิบายแล้วก็หันไปถามลูกทัวร์จำเป็นของเธอที่กำลังกวาดสายตาอย่างตื่นใจภายใต้ท่าทีที่ดูเรียบๆ นั้นว่า “คุณอยากดูอะไรล่ะคะ”
“ก็มีอะไรให้ดูบ้างล่ะครับ” ลูกทัวร์ย้อนถามกลับ
ไกด์สาวยักไหล่ก่อนจะอธิบาย “ถ้าคุณมาที่นี่ตอนเช้า คุณอาจจะแปลกใจว่าเจอมา เอฟ น่า มีชื่อเสียงได้อย่างไร เพราะดูไม่ต่างอะไรกับลานจอดรถ ช่วงบ่ายอย่างนี้ส่วนมากจะเต็มไปด้วยนักแสดงเร่ ที่คุณเห็นคนมุงเป็นหย่อมๆ นั่นละค่ะ แต่ที่นี่จะคึกคักที่สุดก็ตอนกลางคืน เพราะจะมีแผงขายอาหารเต็มไปหมดเลย”
“ถ้าคุณไม่ว่าอะไร งั้นเราไปดูการแสดงก็แล้วกันครับ”
เมื่อทั้งสองเดินขยับเข้าไปในจัตุรัสเพียงแค่ขอบๆ ก็ถูกต้อนรับโดยหมองูที่นั่งกันอยู่เป็นกลุ่ม มีงูเห่าสองสามตัวขดเป็นวงกลม ชูคอแผ่แม่เบี้ยอยู่ตรงหน้า ชายหนุ่มคนหนึ่งถืองูเดินเข้ามาใกล้
เขาอยู่ในชุดจาลาบา (Djellaba) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองทำด้วยขนสัตว์ทรงกระสอบยาวคลุมถึงครึ่งแข้ง แขนยาวถึงข้อมือ คล้ายกับกาลาบีย่าของอียิปต์ หากจาลาบาไม่นิยมมีลวดลายและยังมีฮู้ดทรงสามเหลี่ยมห้อยอยู่ด้านหลัง
พอมาถึงเบื้องหน้า หนุ่มสาวทั้งสองที่ดูผาดๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมากนัก เนื่องจากชารีฟอยู่ในชุดสูทเรียบร้อยและยังมีโครงหน้าไปทางนั้นอยู่มาก ส่วนฮะจิน่าอยู่ในชุดวอร์มทันสมัย ผมยาวผูกไว้เป็นหางม้าอย่างง่ายๆ เขาจึงเริ่มร่ายเป็นภาษาอังกฤษ
“ยินดีต้อนรับครับ ยินดีต้อนรับ มาถ่ายรูปคู่กับงูมั้ยครับจะได้โชคดี”
หากเมื่อฮะจิน่าตอบปฏิเสธยิ้มๆ เป็นภาษาอารบิกสไตล์โมร็อกกันชัดเจนว่า “ไม่ค่ะ ขอบคุณ” หมองูจึงทำหน้าเบ้ก่อนจะเดินจากไปหานักท่องเที่ยวหนุ่มสาวหน้าตาญี่ปุ่นคู่หนึ่งที่เดินเฉียดเข้ามาใกล้ ถือวิสาสะเอางูที่ถืออยู่พาดโครมเข้าที่คอชายหนุ่มแล้วก็ลากไปนั่งอยู่กับกลุ่มงูเห่า เร่งให้แฟนสาวที่มาด้วยกันถ่ายรูปให้
ฮะจิน่าเห็นดังนั้นก็กระซิบกับชารีฟว่า “นี่ละค่ะวิธีการหากินของคนในเจอมา เอฟ น่า โดยเฉพาะหมองูนี่ละตัวดี นี่ถ้าคนคู่นั้นไม่จ่ายเงินให้ล่ะก็สงสัยไม่ได้เดินไปไหนแน่ๆ”
แล้วก็จริงอย่างที่เธอว่า หลังจากที่ถ่ายรูปเสร็จแล้วหมองูก็เรียกเงินค่าถ่ายรูปถึงคนละสองร้อยดีร์ฮาม ชารีฟที่ได้ยินก็อดตกใจไม่ได้
“อะไรกันครับ ถ่ายรูปแค่นี้เรียกตั้งสองร้อย”
เจ้าบ้านสาวหัวเราะแห้งๆ รู้สึกอับอายในการกระทำของคนร่วมชาติอยู่ไม่น้อย “เขาก็เรียกแพงๆ ไปก่อนอย่างนั้นละค่ะ เผื่อฟลุกมีนักท่องเที่ยวเงินหนาและโง่พอจะจ่ายจริงๆ แต่ยังไงก็ตาม การถ่ายรูปที่นี่ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งนะคะ ไม่ใช่ว่าคุณจะถือกล้องไปจ่อถ่ายรูปใครเลยก็ได้ ต้องขออนุญาตเสียก่อน ถ้าเขาบอกว่าไม่ก็คือไม่ บางคนก็มีการต่อรองขอเงินเป็นการตอบแทน”
“จริงๆ แล้วควรจะให้เท่าไหร่ล่ะครับ”
“ก็สอง ห้า สิบ ยี่สิบ ตามแต่จะตกลงกันละค่ะ แต่ส่วนมากฉันจะแนะนำที่ห้าหรือสิบดีร์ฮามก็พอแล้ว”
ขณะที่ทั้งสองกำลังพูดคุยกันอยู่นั้นก็เห็นหมองูหลอกเอาเงินจากฝ่ายสาวได้ยี่สิบดีร์ฮาม และอีกคนหนึ่งก็มาประกบหนุ่มญี่ปุ่นได้ไปอีกยี่สิบดีร์ฮาม ก่อนที่นักท่องเที่ยวคู่นั้นจะเดินหายลับไปท่ามกลางฝูงชน
“อย่างคู่นั้นจ่ายแพงเป็นบทเรียนเลยละค่ะ”
ฮะจิน่าวิจารณ์ก่อนจะดึงชารีฟให้เดินไปทางอื่น
นอกจากหมองูที่มีทั้งชาวโมร็อกกันเองและนักท่องเที่ยวมุงดูกันอย่างแน่นหนาแล้ว ในเจอมา เอฟ น่า ก็ยังมีนักเล่านิทานที่ดูคงแก่เรียนบอกเล่าเรื่องราวโดยมีภาพสีสวยสดเป็นการประกอบคำบรรยาย ชายหนุ่มกับลิงจ๋อที่คอยจับนักท่องเที่ยวให้ถ่ายรูปกับลิงเพื่อเงิน ชายวัยปลายในชุดคลุมสีแดงสดครอบด้วยหมวกที่มีพู่หลากสี ห้อยเต็มไปด้วยระฆังและฉิ่งฉาบ นัยว่าเป็นชุดของชาวเผ่าเบอร์เบอร์ในงานเฉลิมฉลองเดินไปเดินมาเพื่อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน
ทั้งสองเดินวนไปวนมาเรื่อยๆ หยุดดูสิ่งที่น่าสนใจเป็นครั้งคราว ก่อนจะเดินมาถึงด้านเหนือของจัตุรัส ซึ่งเป็นทางเข้าซูก (Souks) หรือตลาดนัด
“คุณอยากจะทำอะไรคะ เดินอยู่ในนี้หรือว่าจะเข้าไปในซูก”
“คุณจะแนะนำว่ายังไงล่ะครับ”
ฮะจิน่ามองคนร่วมทางในชุดสูทที่ถูกตัดเย็บมาอย่างดีกับรองเท้าหนังขัดมันระยับแล้วก็หรี่ตาอย่างเจ้าเล่ห์ พยายามกลั้นยิ้มอย่างสุดความสามารถหากมุมปากก็ยังกระตุกนิดๆ อยู่ดี
“ซูกใหญ่มากค่ะ มีของขายเยอะแยะ ตอนนี้ก็สี่โมงกว่าเข้าไปแล้ว ยังไงคุณก็ดูไม่ทั่วแน่ๆ ไว้มาดูวันหลังสิคะ ถึงจะซับซ้อนเหมือนกับเขาวงกต แต่คุณก็มาเดินคนเดียวได้เพราะถนนหลักส่วนใหญ่ก็มาออกที่เจอมา เอฟ น่า นี่ละค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้ฉันจะพาคุณไปที่เด็ดๆ ซึ่งถ้าไม่มีไกด์ก็อาจจะไปไม่ถึงเอาได้ง่ายๆ”
“อะไรล่ะครับ” ชารีฟถามเสียงเรียบ
“ความลับค่ะ” ตอบพร้อมกับขยิบตา
แม้จะรู้ลึกๆ ว่าไกด์สาวมีทีท่าไม่น่าไว้วางใจเท่าไหร่นัก หากคิดดูแล้วเธอจะทำอะไรเขาได้ อย่างมากก็เอาไปทิ้งปล่อยให้หลงทาง เขาแค่ต้องหาทางกลับเองก็เท่านั้น จึงตอบกลับไปว่า “ตกลงครับ”
“งั้นก็ไปกันเลยค่ะ” ฮะจิน่ายิ้มให้หวานเจี๊ยบและเดินนำไปก่อนอย่างร่าเริง
ติดตามตอนต่อไปวันพรุ่งนี้ เวลา 12.00 น.
Comments
comments
No tags for this post.