บทที่ 10.1 สายลมเย็นที่เฮาหลี่
สำหรับผู้เฝ้าดูประวัติศาสตร์อยู่ด้านข้างคนหนึ่ง จะถอดเสื้อคลุมนักวิชาการที่อยู่ด้านนอกชั้นนั้นออกมาสวมเสื้อผ้าของคนในราชวงศ์หมิง จรดพู่กันเอ่ยปากพูดในรัชศกเจินหนิงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่คิด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่านางเป็นเพียงสตรีคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด สำหรับในสังคมแล้วทัศนะที่ดีมักจะเดินนำอยู่ข้างหน้าเสมอ ทุกคนต่างพยายามต่อสู้อย่างหนัก เติ้งอิงเป็นเช่นนั้น หยางหลุนเป็นเช่นนั้น แม้แต่องค์ชายอี้หลางก็เป็นเช่นนั้น
นับแต่หนิงเฟยถูกกักตัวอยู่ในอุทยานกล้วย องค์ชายอี้หลางก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเงียบขรึมลง แต่ในด้านการเรียนกลับยิ่งขยันหมั่นเพียร ทุกวันยังไม่ถึงยามเหม่าก็ออกจากตำหนักไปเรียนหนังสือ เป็นไข้ตัวร้อนก็ไม่เคยหยุดเรียน ถึงจะกลับมายังตำหนักเฉิงเฉียนแล้วก็มักจะทบทวนหนังสือจนดึกดื่น หยางหวั่นบอกให้เขาพักผ่อนสักครู่ เขาฟังมากเข้าก็จะตำหนิหยางหวั่น ทำให้นางรู้สึกอับจนปัญญา
ฮ่องเต้ไม่อนุญาตให้ฮองเฮากับสนมชายาคนอื่นๆ เลี้ยงดูองค์ชายอี้หลาง หยางหวั่นจึงเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของหนิงเฟยในสมัยก่อน เริ่มดูแลอาหารการกินและชีวิตความเป็นอยู่ขององค์ชายอี้หลางอย่างทึ่มทื่อ ตอนแรกนางเข้าใจว่าให้เด็กคนนี้ได้กินอิ่ม ไม่ให้เขาต้องความหนาวเย็นก็เพียงพอแล้ว ทว่าพอทำขึ้นมาจริงๆ กลับพบว่าเรื่องนี้หาได้ง่ายดายเพียงนั้น
เมื่อก่อนหนิงเฟยเป็นประมุขของตำหนักเฉิงเฉียน ควบคุมดูแลทั้งตำหนัก มาบัดนี้อีกฝ่ายไม่อยู่แล้ว ในขณะที่หยางหวั่นต้องดูแลองค์ชายอี้หลางและต้องดูแลตำหนักเฉิงเฉียนไปด้วย
ถึงอย่างไรเรื่องในตำหนักย่อมแตกต่างจากเรื่องในกองงานพิธีการ หยางหวั่นไม่ใช่สนมชายาและไม่ค่อยรู้เรื่องกิจการในวัง อีกทั้งนอกจากองค์ชายอี้หลางแล้ว ในตำหนักเฉิงเฉียนยังมีเหม่ยเหริน อีกสองคนที่ไม่ค่อยรู้สึกถึงการมีตัวตนของพวกนางพำนักอยู่ด้วย แม้พวกนางจะไม่ได้รับความโปรดปราน แต่ก็เป็นคนคนหนึ่ง ถ้าปวดศีรษะตัวร้อนก็ต้องตามหมอหลวง ทุกเทศกาลก็ต้องกินต้องดื่ม มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา ตอนหยางหวั่นเผชิญหน้ากับคนสองคนนี้ นางรู้สึกว่าฐานะของตนน่ากระอักกระอ่วนยิ่ง เมื่อต้องรับมือครั้งแรกก็ย่ำแย่อึดอัดไปหมด
ส่วนเติ้งอิงจะมาหานางอยู่เป็นนิจ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร เพียงนั่งมองหยางหวั่นอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็ไป
ทว่าท่าทีที่เขามีต่อตำหนักเฉิงเฉียนกลับกลายเป็นท่าทีของยี่สิบสี่ที่ทำการของราชสำนักฝ่ายในที่มีต่อตำหนักเฉิงเฉียน ขันทีหัวหน้ากองงานต่างรู้ว่าหยางหวั่นยังทำงานได้ไม่เข้าที่เข้าทาง จึงพากันตั้งอกตั้งใจช่วยคิดแทนตำหนักเฉิงเฉียนมากขึ้น
หยางหวั่นไม่ใช่คนโง่เขลา หลังจากผ่านไปครึ่งเดือนงานการต่างๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง พวกเหออวี้และคนอื่นๆ ก็พลอยวางใจลงแล้วเช่นกัน
ทว่าพวกนางก็มีความคิดที่เห็นแก่ตัวอยู่เช่นกัน เหออวี้เคยพูดกับหยางหวั่นไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียวว่า ‘ผู้บัญชาการเติ้งปกป้องตำหนักเฉิงเฉียนเรา ทางตำหนักเหยียนสี่ก็ไม่กล้ามีคำพูดอะไรแล้ว บ่าวเห็นทางยี่สิบสี่ที่ทำการก็ปฏิบัติต่อเราอย่างเกรงใจมากขึ้น ไม่เหมือนช่วงที่พระชายาเพิ่งล้มป่วย วางอำนาจอย่างกับอะไรดี’
หยางหวั่นไม่ชอบฟังเหออวี้กับคนอื่นๆ พูดคำพูดเช่นนี้
นางเข้าใจดีว่าที่เติ้งอิงทำเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับสำนักกิจการฝ่ายใน
เทียบกับเหออี๋เสียนที่สลัดองค์ชายอี้หลางซึ่งถูกตำหนักเหวินหวาอบรมสั่งสอนจน ‘ใช้การไม่ได้’ ทิ้งแล้วหันไปหาตำหนักเหยียนสี่ เติ้งอิงกลับดีต่อองค์ชายที่เกลียดขันทีมากที่สุดพระองค์หนึ่ง และสิ่งที่เติ้งอิงต้องการก็ไม่ใช่การปกป้องจากองค์ชายในรัชสมัยของฮ่องเต้พระองค์ถัดไป
ทว่าในความเป็นจริงอีกไม่กี่ปีเด็กที่อยู่ภายใต้การปกป้องของเขาผู้นี้จะเขียน ‘บันทึกหนึ่งร้อยความผิด’ ส่งตัวเขาเข้าคุกหลวง ขึ้นสู่ลานประหารด้วยตนเอง
ตอนหยางหวั่นมองดูเติ้งอิงกับองค์ชายอี้หลางก็มักจะนึกถึงเรื่อง ‘ชาวนากับงู’ แต่ในขณะเดียวกันนางก็รู้สึกว่าไม่เหมาะสม รู้สึกว่าเป็นการพิจารณาใคร่ครวญที่หยาบกระด้างเรียบง่ายเกินไป ระหว่างองค์ชายอี้หลางกับเติ้งอิง ระหว่างฮ่องเต้กับขันที ระหว่างน้ำใจของมนุษย์ที่มีต่อกัน ความสัมพันธ์เหล่านี้ในทางการเมืองแล้วมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ไม่อาจสรุปได้ด้วยคำว่า ‘ชาวนากับงู’ ซึ่งเป็นการแยกผิดถูกออกจากกันอย่างชัดเจน