ทดลองอ่าน
ทดลองอ่าน วงกตลายตะวัน บทนำ-บทที่ 1
บทนำ
หากวาริศแสร้งทำใจยอมรับความสูญเสียอันใหญ่หลวงได้ เขาคงไม่มานั่งทอดสายตาผ่านหน้าต่างเครื่องบินบนความสูงสามหมื่นฟุต จดจ้องปุยเมฆขาวโพลนเหนือน่านฟ้าไทยเช่นวันนี้
เสียงทุ้มเข้มของกัปตันประกาศพร้อมนำเครื่องร่อนลงสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะเวลาเดินทางจากนิวยอร์กร่วมสิบเก้าชั่วโมงชวนเบื่อหน่ายกำลังจะสิ้นสุดลง ทว่าเทียบไม่ได้เลยกับความคับแค้นใจที่สั่งสมมานานตลอดสิบปี
วาริศบอกตัวเองให้อดทนไว้ เขาใกล้จะได้พบใครบางคนเต็มที…คนที่ทำให้ชีวิตครอบครัวเขาต้องเผชิญกับความพินาศ…ฆาตกรผู้ปลิดชีพความจริงไปพร้อมกับลมหายใจอันรวยรินของพ่อ
แม่คัดค้านแผนเดินทางกลับไทยของเขามาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลต้องทำอย่างนี้ด้วยซ้ำ อยู่ที่นิวยอร์กก็มีความสุขดีมิใช่หรือ ลูกของแม่ควรมีชีวิตเฉกเช่นหนุ่มไฟแรงวัยยี่สิบแปด ครีเอทีฟดาวรุ่งอย่างเขายังวิ่งไปได้อีกไกลบนถนนสายโฆษณาเหมือนที่พ่อฝันไว้
‘ลูกคือความหวังเดียวของพ่อ’ …แม่เอาแต่ย้ำประโยคนั้นซ้ำๆ นับตั้งแต่วันที่เสียพ่อไป ตอกย้ำว่าเป็นห่วงเขามากเพียงใด ไม่อยากเห็นเขาเบนเข็มทิศพาชีวิตจมปลักอยู่กับหลุมโคลนแห่งความแค้นข้น
แต่แม่จะรู้บ้างไหม เพราะเขาคือความหวังเดียวของพ่ออย่างไรเล่า ถึงต้องกลับมาทวงความยุติธรรมคืน!
วาริศคิดอย่างนั้น แต่ไม่อาจพูดออกมาได้ ทำได้แค่สรรหาเหตุผลมาหว่านล้อมผู้เป็นแม่ว่าเขาแค่อยากกลับไปพักผ่อนที่เมืองไทยสักปีหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาเริ่มงานที่เอเจนซี่โฆษณาแห่งใหม่
ทว่าความจริงอีกครึ่งหนึ่งซึ่งวาริศไม่ยอมบอกแม่คือเอเจนซี่ใหม่ที่ว่านั้น…แท้จริงแล้วตั้งอยู่ในไทย เจ้าของหาใช่ใครอื่นไกล คือคุณอาธนาเพื่อนสนิทของพ่อนั่นเอง
คุณอาธนามีลูกชายรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ทำงานเป็นครีเอทีฟในตำแหน่งอาร์ตไดเร็กเตอร์* เหมือนกัน หลังวาริศบอกข่าวแก่คุณอาธนาว่าจะกลับเมืองไทย ไม่กี่วันต่อมาเขาก็ได้รับอีเมลจากกริช บอกว่าจะขับรถมารับถึงสนามบินตามคำสั่งของคนที่เป็นทั้งนายและพ่อ วาริศรู้ดีว่ากริชทำเป็นอ้างไปอย่างนั้น ทั้งที่ใจจริงของหมอนั่นอยากเจอเขาเต็มแก่
“ไอ้ริศ!”
กริชโบกมือหลังแผงรั้วกั้นหน้าทางออกบริเวณผู้โดยสารขาเข้าพลางส่งยิ้มจริงใจให้ “ไม่เจอกันแค่ปีเดียว เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันนี่หว่า”
วาริศเห็นสายตากริชเริ่มสำรวจความเปลี่ยนแปลงของแบรนด์เครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะแว่นกันแดดแบรนด์ดังจากอิตาลี กริชเคยบอกว่าไม่ว่าเขาจะหยิบจับแว่นตาใดๆ มาใส่ ก็ช่างรับกับดวงตาคมเข้มคู่เหยียดโลก จมูกโด่ง และริมฝีปากหยักบางเฉียบของเขาอย่างร้ายกาจ ดูดียิ่งกว่านายแบบบนหน้านิตยสารเป็นไหนๆ
“ตั้งแต่เป็นครีเอทีฟดังที่นิวยอร์ก มีเงินถุงเงินถังซื้อเสื้อผ้าแพงๆ มาใส่ด้วยเว้ยเฮ้ย”
วาริศนึกขันนิดๆ “แบรนด์เปลี่ยน แต่สไตล์ยังเหมือนเดิม มินิมอลน่ะ รู้จักหรือเปล่า”
“รู้จักดิ แพรพูดกรอกหูฉันทุกวัน”
เวลากริชพูดถึงดีไซเนอร์สาว ‘เพียงแพร’ เพื่อนสนิทอีกคนของเขาทีไร ประกายตามักเปลี่ยนเป็นเด็กหนุ่มตกอยู่ในภวังค์รักทุกครั้ง
ไม่มีคำบรรยายใดๆ ลึกซึ้งไปกว่าคำว่ายินดีจากใจ เมื่อเห็นเพื่อนรักสองคนลงเอยด้วยการคบหากัน วาริศหวังเหลือเกินว่ากริชและเพียงแพรจะรักกันไปตราบนานเท่านาน ไม่ว่ามารผจญตัวไหนย่างกรายเข้ามาขัดขวาง เขานี่แหละ…จะเป็นคนกางแขนปกป้องความรักของทั้งคู่เอง
ไม่น่าเชื่อว่าคนอย่างเพียงแพรจะมีอิทธิพลต่อชีวิตกริชถึงขนาดนี้ เพียงแค่กริชดึงคำบอกกล่าวของเพียงแพรเข้ามาเอี่ยวในบทสนทนานิดเดียว หลังจากนั้นเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะบทพ่อแง่แม่งอนระหว่างกริชกับเพียงแพรก็ถูกแบ่งปันมาถึงวาริศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ขณะชายหนุ่มลากกระเป๋าเดินทางใบเขื่องเดินตามกริชไปยังอาคารจอดรถฝั่งตรงข้ามอาคารผู้โดยสารของสนามบิน
ทว่าตลอดระยะเวลาครึ่งชั่วโมงที่รถสปอร์ตสีขาวของกริชแล่นฉิวนำวาริศสู่ใจกลางเมืองนั้น วาริศเห็นชัดว่ากริชมีทีท่าเหมือนอยากจะเล่าอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็เงียบไป ราวกับตัดใจเก็บเรื่องนั้นไว้เป็นความลับต่อ วาริศไม่อยากซักไซ้ให้มากความ เขาเลือกนั่งนิ่งๆ ทอดอารมณ์มองข้างทาง ซึมซับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดที่จากไปนาน โดยเฉพาะอาคารสูงเสียดฟ้ายืนเด่นเรียงรายตลอดสองข้างทางคล้ายกำลังต้อนรับเขา
“กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปมากว่ะ”
“แหงล่ะ แกไม่ได้กลับมานานแล้วนี่หว่า…สิบปีอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป”
“ใช่ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป” วาริศพึมพำอย่างเห็นด้วย เพราะโลกเรานั้น…ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่แน่นอนที่สุดแล้ว
“แกแวะไปหาพ่อฉันก่อนไหม ดูตั้งตาคอยการกลับมาของแกยิ่งกว่าตอนฉันบินกลับหลังเรียนจบที่นิวยอร์กซะอีก ตกลงใครเป็นลูกแท้ๆ กันแน่วะ ชักจะสับสนแล้วสิ”
วาริศก้มมองหน้าปัดนาฬิกาข้อมือแบรนด์หรู “ไว้เจอกันตอนเย็นดีกว่า ยังพอมีเวลา” ก่อนจะเงยหน้าหันไปมองคนขับ “ยังไงแกแวะส่งฉันที่โรงแรมแถวราชประสงค์หน่อยสิ”
“ไปทำอะไรวะ อย่าบอกนะว่าเรื่องงาน พักสักวันก่อนดีกว่าน่า”
“ไม่ได้หรอก นัดลูกค้าสำคัญไว้…สำคัญมากๆ ด้วย”
ลูกค้าคนสำคัญที่ว่านั้น…คือชายวัยห้าสิบห้าเจ้าของนัยน์ตาพญาเหยี่ยว ผมสีดอกเลาถูกจัดแต่งอย่างเรียบง่าย ริ้วรอยบนใบหน้ากร้านคมบ่งบอกถึงประสบการณ์อันสั่งสมมานานบนถนนสายโฆษณา ชื่อของเขาคือศักดา…กำลังดำเนินปาฐกถาบนเวที
ทุกท่วงท่าของศักดาช่างน่ามอง วาริศนึกสงสัยว่าเขาอาจหลงใหลและบูชาในตัวศักดาขึ้นมาจริงๆ หากไม่เคยสัมผัสความเลวระยำที่ซ่อนภายใต้หน้ากากยิ้มแย้มแสนจะเป็นมิตรมาก่อน น้ำเสียงทรงพลังของศักดาร่ายไปเรื่อยถึงความยิ่งใหญ่ของโฆษณาว่าไม่ใช่แค่โทรโข่งเที่ยวโพนทะนาสินค้า แต่เป็นระเบิดเวลาที่ค่อยๆ ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ใจในตัวมนุษย์ ระเบิดเวลานั้นจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการตั้งเวลานับถอยหลัง การปลูกฝังครีเอทีฟถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของการเข้าไปคลุกคลีสัมผัสเรื่องราวความเป็นมนุษย์เพื่อเข้าถึงความในใจของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด คือทางออกสำคัญของการสื่อสารการตลาดในยุคที่โฆษณาควรทำตัวให้เป็นโฆษณาน้อยที่สุด
“โฆษณาที่ดี…ไม่ควรสักแต่ขายสินค้าอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นด้วย” ศักดาย้ำกับบรรดาผู้ฟังทั้งนักธุรกิจ นักการตลาด และนักศึกษาโฆษณาที่มารวมตัวกันจนห้องบอลรูมแน่นขนัด
ประโยคเมื่อครู่…วาริศขอยกให้เป็นวรรคทองของวัน ได้ยินแล้วนึกขันจนอยากจะอาเจียน รู้สึกสะอิดสะเอียนเต็มกลืน แต่สุดท้ายแล้วต้องฝืนใจฟังศักดาพูดต่อไป พร้อมคำนวณยอดในใจว่าลูกค้ารายนี้ค้างชำระหนี้แค้นเขาอยู่เท่าไร คิดทบต้นทบดอกเรียบร้อย รอวันทวงคืนให้สาแก่ใจ ไม่มีคำว่าประนีประนอมใดๆ สำหรับคนที่ยังกล้าเชิดหน้าชูตาในสังคม หลงลืมว่าเคยทำให้เขากับแม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสเมื่อสิบปีก่อน
“…ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานครบรอบสามทศวรรษเอเจนซี่ ADDICT วันนี้ครับ เหตุผลที่เอเจนซี่เราใช้ชื่อนี้ทุกท่านคงพอจะเดาออกอยู่แล้ว คำว่า AD ตัวแรกย่อมาจากคำว่า Advertising ที่แปลว่าโฆษณา ส่วนคำว่า ADDICT นั้นหมายถึงการเสพติด แปลรวมๆ แล้วเป็นความหมายที่ดีมากครับ พวกเราเสพติดโฆษณาประหนึ่งลมหายใจ ขาดเมื่อไหร่…ลงแดงตายเมื่อนั้นครับ และนับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ขอให้มั่นใจได้เลยว่าพวกเรา…เอเจนซี่แอดดิกต์จะไม่หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่แก่วงการโฆษณาไทยแน่นอน ผมสัญญา”
“และนี่คือเจ้าของฉายาศาสดาโฆษณา…คุณศักดา เจนนุรักษ์ ขอเสียงปรบมือให้คุณศักดาอีกครั้งครับ”
เหล่าผู้หลงผิดบูชาศักดาต่างปรบมือตามคำขอพิธีกรอย่างว่าง่าย วาริศบอกตัวเองให้นิ่งดูดาย ละสายตาจากภาพขัดหูขัดตานั้นเสีย เมื่อไม่รู้จะทำอะไร เขาจึงลองเปิดดูถุงกระดาษที่ได้มาจากการลงทะเบียนหน้างาน ข้างในมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มหนึ่งปะปนกับเอกสารประวัติเจ้าของธุรกิจดังที่เป็นลูกค้าเอเจนซี่แอดดิกต์ซึ่งมาร่วมเสวนาในหัวข้อการลงทุนกับกลยุทธ์การทำตลาดในยุค 4.0 และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้
วาริศหยิบพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนั้นขึ้นมา หน้าปกเป็นรูปศักดาอยู่ในชุดวิ่งมาราธอนสีแดงเลือดนกเฉดเดียวกับโลโก้เอเจนซี่แอดดิกต์ ดูเข้ากับชื่อหนังสือ ‘โฆษณามาราธอน’ ก็จริง แต่เขากลับรู้สึกได้ถึงความสกปรกของเนื้อหา ไม่แน่ใจนักว่าเรื่องเล่าของศักดาบนหน้ากระดาษถนอมสายตาปึกหนาเล่มนี้จะเป็นความจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์ ยิ่งพลิกมาดูปกหลัง กวาดสายตาอ่านคำโปรย วาริศยิ่งพบว่าตัวเองแทบสะกดกลั้นเสียงหัวเราะไว้ไม่อยู่
‘ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 20 ปีของ ‘ศาสดาโฆษณาไทย’
‘ศักดา เจนนุรักษ์’ มักให้กำลังใจตัวเองเสมอว่า
ชีวิตคนโฆษณา…ไม่ต่างจากการวิ่งมาราธอน
ออกตัวเร็วใช่ว่าจะชนะเสมอไป
ออกตัวช้าใช่ว่าไม่มีสิทธิ์ชนะเลย
การวิ่งมาราธอนบนถนนสายโฆษณาของเขา…
ต้องล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วนเพื่อฝ่าฟันโจทย์แสนท้าทาย
“อย่าหยุดวิ่ง!” นี่คือสิ่งที่ศักดาบอกตัวเองอย่างนั้นซ้ำๆ
เพราะหากพลาดพลั้ง คำว่า ‘แพ้’ จะคอยกัดกินหัวใจเขาไปตลอดกาล…’
ให้ตายเถอะ ศักดาไปเอาความกล้าบ้าบิ่นจากไหนมาบรรยายสรรพคุณหนังสือได้ชวนขันขนาดนี้ ไม่เห็นแก่หน้าตัวเอง ก็น่าจะเห็นแก่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ใต้พรมบ้างก็ยังดี
เมื่อเห็นว่าเหล่าผู้หลงผิดที่รุมล้อมศักดาเริ่มบางตา วาริศจึงลุกขึ้นเหยียดกายเต็มความสูงหนึ่งร้อยแปดสิบเซนติเมตร ก้าวเข้าไปใกล้ๆ ดึงดูดความสนใจจากเจ้าของนัยน์ตาพญาเหยี่ยวคู่นั้น
“ชื่ออะไรน่ะเรา” ศาสดาโฆษณาถามด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง คงเข้าใจว่าเขาเป็นหนึ่งในสาวกที่มาร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมหน้าในวันนี้
“วาริศครับ…วาริศ อิสรา”
“วาริศ อิสรา…ชื่อเท่ดี” ศักดาจรดปลายปากกาบนปกรองพ็อกเก็ตบุ๊กที่เขาเพิ่งยื่นให้เมื่อครู่ “ตอนนี้ทำงานโฆษณาอยู่รึเปล่า”
“ผมยื่นใบสมัครไปหลายๆ เอเจนซี่แล้วครับ หวังว่าจะมีสักที่เรียกสัมภาษณ์”
ศักดาได้ยินเช่นนั้นพลันแย้มริมฝีปากให้กำลังใจ “โฆษณาก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ถ้าเราไม่หยุดวิ่งเสียก่อน ต้องถึงเส้นชัยเข้าสักวัน”
ตบท้ายเข้าชื่อหนังสือ จบการขายได้อย่างน่าประทับใจจนวาริศนึกหยัน แววตาซ่อนรอยชิงชังมิดชิด
“ยินดีที่ได้พบนะ”
“ยินดีเช่นกันครับ” วาริศยื่นมือกระชับตอบ ขอบคุณศาสดาโฆษณาอีกครั้ง
พร้อมย้ำกับตัวเองว่าจะจดจำคำสอนเมื่อครู่นั้น…ไปจนวันตาย
* อาร์ตไดเร็กเตอร์ (ผู้กำกับศิลป์) มีหน้าที่ออกแบบภาพโฆษณา ทำงานคู่กับก๊อปปี้ไรเตอร์ (ผู้เขียนคำโฆษณา) มีหน้าที่ออกแบบข้อความโฆษณา