THE ARCHITECTURE OF LOVE ออกแบบร่างก่อสร้างรัก
ทดลองอ่าน THE ARCHITECTURE OF LOVE ออกแบบร่างก่อสร้างรัก บทที่ 1
‘ดิฉันก็อยากรู้พอๆ กับพวกคุณนั่นแหละค่ะ คืนนี้จะเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้รับชมมัน’ เธอตอบด้วยรอยยิ้มสำรวม แต่หลังจากที่เธอหย่อนตัวลงบนเก้าอี้นุ่มๆ ในโรงภาพยนตร์ เธอถึงตระหนักได้ว่าคำว่า ‘อยากรู้’ มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เธอกำลังรู้สึก เธอกลัวแทบบ้าเลยต่างหาก ความรู้สึกนี้มันแปลกใหม่สำหรับเธอ ทุกครั้งที่หนังสือของเธอถูกตีพิมพ์ออกไป เธอไม่เคยสนใจความเห็นของนักอ่านหรือรีวิวของนักวิจารณ์เลย เธอเขียนนิยายเพราะเธอชอบ และก็เขียนในสิ่งอยากเขียน เธอไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือรางวัลหรือคำชมใดๆ แต่ในช่วงไม่กี่นาทีก่อนไฟในโรงภาพยนตร์จะหรี่ลง ทุกอย่างมันรู้สึกผิดแปลกไปหมด อาการปวดท้องและคอที่แห้งผากคือสัญญาณที่ชัดเจน
‘หวังว่าจะชอบนะครับ’ โปรดิวเซอร์บอกพร้อมรอยยิ้ม ฉันก็หวังแบบนั้นเหมือนกัน ไรยาบอกตัวเอง เพราะถ้าเธอไม่ชอบ เธอต้องเตรียมคำชมปั้นแต่งไว้ตอบโปรดิวเซอร์ นักข่าว และที่แย่สุดเลยก็คือนักอ่านผู้ซื่อสัตย์ที่น่าจะรักหนังสือของเธอมากกว่าที่ผู้เขียนอย่างเธอรักเสียอีก
สำหรับนักเขียนแล้วการตีพิมพ์หนังสือก็เหมือนกับการคลอดลูก ซึ่งระยะเวลาตั้งท้องอันยาวนานนั้นเปี่ยมไปด้วยความสุขและความตื่นเต้น ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก การดิ้นรน และอารมณ์มากมายที่หลั่งไหลท่วมท้น แต่ทุกอย่างล้วนอยู่ในการควบคุมของนักเขียน ซึ่งไรยามีอำนาจควบคุมเหนือกระบวนการทุกอย่าง แต่การส่งต่องานของเธอให้โปรดิวเซอร์เอาไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นั้นให้ความรู้สึกเหมือนเธอกำลังส่งต่อลูกในไส้ไปให้คนอื่นแก้ๆ ปรับๆ เล่น กระบวนการนี้ต้องอาศัยความไว้ใจเป็นอย่างมาก หรือบางทีก็ต้องมีการยอมจำนนเล็กๆ น้อยๆ คืนนั้นไรยาจะได้รู้ว่าความคาดหวังของเธอจะได้รับการเติมเต็มหรือไม่ และการรอลุ้นก็ทำให้เธอประหม่าอย่างไม่น่าเชื่อ
ผลคือเธอชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าที่คิดไว้ นักอ่านของเธอส่วนใหญ่ต่างก็ชื่นชม ตัวหนังเองก็ดังเปรี้ยงปร้าง ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ยาวถึงเจ็ดเดือน โดยมีผู้เข้าชมถึงสองล้านห้าแสนคน ถือว่าเป็นความสำเร็จสำหรับหนังอินโดนีเซียเลยทีเดียว ไรยาได้รับโบนัส เข้าร่วมโรดโชว์เพื่อโปรโมตหนัง ตามด้วยการได้รับข้อเสนอมากมายจากสตูดิโอภาพยนตร์ต่างๆ สำหรับโปรเจ็กต์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เธอต้องการมากที่สุดแต่กลับยังไม่สามารถทำได้ นั่นคือการกลับมาเขียนอีกครั้ง บางสิ่งบางอย่างในตัวเธอได้ขาดหายไป และมันทำให้เธอเขียนออกมาไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว งานเอิกเกริกทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นทำให้เธอเสียสมาธิจนต้องหลีกหนีออกมา
แล้วเธอก็มาลงเอยที่สนามบินเจเอฟเคเมื่อสองเดือนก่อน ไรยาได้ทำตามการตัดสินใจที่จะหนีไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เธอตัดสินใจแบบนั้น มันมีสาเหตุที่ใหญ่กว่านั้น และเธออยากลบมันออกไปจากความทรงจำเหนือกว่าสิ่งอื่นใด เป็นเหตุผลที่เธอไม่ได้อยากจำ โดยเฉพาะในคืนนี้ สองปีหลังจากเหตุการณ์นั้นพอดิบพอดี
เธอเลยมาอยู่ตรงนี้ บนเบาะหลังรถอูเบอร์ข้างๆ เอรินผู้กำลังผูกเสื้อโค้ตของตัวเองระหว่างที่รถมุ่งหน้าฝ่าเมืองแมนฮัตตันไปยัง…เอรินเรียกมันว่าอะไรนะ…‘ปาร์ตี้เล็กๆ กับเพื่อนที่ฉันรู้จัก บางคนเธอก็รู้จักอยู่แล้ว’
การเดินทางจากอพาร์ตเมนต์ของเอรินกับไรยาไปที่ลอฟต์ใช้เวลาแค่ห้านาที ชาวนิวยอร์กตัวจริงอาจเลือกที่จะเดินไป แต่ถ้าคุณใส่ชุดเดรสและต้องปะทะกับลมหนาวในแมนฮัตตัน การเดินนั้นก็คือการฆ่าตัวตายดีๆ นี่เอง
“พวกคุณไปปาร์ตี้กันเหรอครับ” คนขับอูเบอร์ถาม
“ใช่ค่ะ” เอรินตอบ “คืนนี้พวกคุณคงยุ่งน่าดูเลยใช่ไหมคะ”
สองคนนั้นพูดคุยกันไปเรื่อยเปื่อยขณะไรยามองออกไปนอกหน้าต่าง เธอนึกถึงชีวิตของตัวเองในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาก่อนจะยิ้มอย่างขมขื่น รู้ดีว่าชีวิตมีไว้ให้ใช้ ให้สนุกสนาน ไม่ใช่ปล่อยให้ติดอยู่กับความกระวนกระวายร้อนใจของตัวเอง เธอรู้สึกใจหายวาบยิ่งกว่าเดิมพอนับจำนวนวันที่เธอแยกตัวมาอยู่คนเดียวในเมืองที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจนับล้านได้ หกสิบเก้าวัน หกสิบแปดคืน แต่กลับยังเขียนอะไรไม่ออกเลยแม้แต่ประโยคเดียว
‘คุณรอให้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นเองไม่ได้หรอก คุณต้องไล่กวดมันด้วยไม้กระบอง’ แจ็ก ลอนดอนกล่าวไว้ นั่นคือสิ่งที่ไรยาพยายามทำมาตลอดหกสิบเก้าวันที่ผ่านมา การไล่ล่าหาแรงบันดาลใจในเมืองที่เป็นฉากหลังให้ภาพยนตร์และนิยายเป็นพันๆ เรื่อง มีบทความหนึ่งพูดถึงบรรดาภาพยนตร์ที่ใช้นิวยอร์กเป็นตัวละครหลัก และภาพยนตร์ที่ใช้มหานครแห่งนี้เป็นจุดสำคัญของเรื่อง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านั้นในเมืองอื่นเพราะมันจะทำลายแก่นสำคัญของเนื้อเรื่อง อย่างเรื่อง ‘เชื่อมใจรักทางอินเตอร์เน็ต’ กำกับโดยนอร่า เอฟรอน ‘นงเยาว์นิวยอร์ก’ กำกับโดยเบลก เอ็ดเวิร์ดส์ ‘แท็กซี่มหากาฬ’ กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี และแน่นอน ‘โดดเดี่ยวผู้น่ารัก ภาค 2 ตอน หลงในนิวยอร์ก’ กำกับโดยคริส โคลัมบัส
ในแต่ละวัน เอรินจะออกไปทำงานขณะที่ไรยากำลังเปลี่ยนทุกมุมในเมืองให้กลายเป็น ‘ออฟฟิศ’ ของตัวเอง เธอเดินผ่านบรุกลิน ไทรเบกา โซโห เซ็นทรัลพาร์ก เคนซิงตัน ไชน่าทาวน์ หมู่บ้านกรีนิช ลิตเติ้ลอิตาลี ไปจนถึงควีนส์ คอยมองหาเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวในทุกๆ มุม ในคนแปลกหน้าที่เดินผ่าน ในบทสนทนาที่บังเอิญได้ยิน ในดวงตาที่สบกันแม้เพียงไม่กี่วินาที ในท่วงท่าของคนแปลกหน้าในรถไฟใต้ดิน ในเสียงหัวเราะและถ้อยคำของเหล่าลูกค้าที่แลกเปลี่ยนกันในร้านกาแฟ ที่ที่เธอมักแวะพักเพื่ออบอุ่นร่างกายเวลาอากาศหนาวเกินทนหรือตอนที่ร่างกายอ่อนล้าเกินไป
ในทุกๆ วัน เวลาเดิม บ่ายสามโมงเป๊ะ เธอจะกลับมาที่อพาร์ตเมนต์และนั่งลงหน้าแล็ปท็อป ขณะไอพอดถูกตั้งให้เล่นเพลงในเพลย์ลิสต์ที่ฟังเป็นประจำอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง และในทุกๆ วัน แม้กระทั่งตอนที่เอรินกลับมาในสามหรือสี่ชั่วโมงถัดมา หน้าจอของไรยาก็ยังคงไม่มีอะไรนอกจากหน้ากระดาษสีขาวกับเคอร์เซอร์ที่กะพริบอยู่บนนั้น หน้ากระดาษเปล่า คำสัญญาที่ไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการเติมเต็มเมื่อไหร่ คุณจะยังเรียกคนคนหนึ่งว่านักเขียนได้อยู่ไหมถ้าเขาไม่ได้เขียนอะไรมานานแล้ว เธอถามตัวเอง แล้วถ้าเขาเขียนไม่ได้ งั้นเขาจะเป็นใครล่ะ เธอเป็นใคร ก็ไม่ได้เป็นใครเลยน่ะสิ
“โอเค ถึงแล้ว ขอบใจมากนะแม็ตต์ ฝากทักทายลูกๆ ของคุณด้วย”
ไรยาไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำว่าเอรินกับคนขับอูเบอร์ไปทำความรู้จักกันตอนไหน
“มาเร็ว อพาร์ตเมนต์ของเขาอยู่ชั้นเก้า” เอรินบอกระหว่างเดินนำไปอย่างรวดเร็ว เธอเปิดประตูตึก และผูกสายรัดเสื้อโค้ตให้แน่น “เขียนไปกี่หน้าแล้ววันนี้”
“ไม่ได้เลยสักหน้า ไอ้สภาวะเขียนไม่ออกเวรนี่จะทำฉันตายอยู่แล้ว”
“แหม อย่างน้อยเธอก็มีสภาวะเขียนไม่ออกในนิวยอร์ก ไม่ใช่เมืองเศร้าๆ ที่ไหน ใช่ไหมล่ะ” เอรินโอบไหล่เพื่อนสนิท “นี่ คืนนี้ไม่ต้องคิดเรื่องการเขียนหรอก ปาร์ตี้กันดีกว่า! ใครจะไปรู้ เธออาจจะพบแรงบันดาลใจในคืนนี้ก็ได้ จริงไหม เราไม่มีทางรู้หรอก”
“ก็อยากให้มันง่ายแบบนั้นนะที่รัก” ไรยาหัวเราะ ฉันหวังว่ามันจะง่ายแบบนั้นจริงๆ ไรยาบอกตัวเอง