THE ARCHITECTURE OF LOVE ออกแบบร่างก่อสร้างรัก
ทดลองอ่าน THE ARCHITECTURE OF LOVE ออกแบบร่างก่อสร้างรัก บทที่ 4
บทที่ 4
ช่องว่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
“นี่มันก็ผ่านมาปีหนึ่งแล้วนะ ริฟ ไม่คิดถึงบ้านบ้างรึไงวะ”
“อยากรู้ว่าฉันคิดถึงนายไหมงั้นเหรอ ทำไมล่ะ คิดถึงฉันมากขนาดนั้นเลยรึไง”
“ไม่ใช่เว้ย! ฉันหมายถึงนายไม่คิดถึงจาการ์ตา ครอบครัว กับเพื่อนที่ทำงานบ้างรึไง ไอ้บ้านี่!” เสียงจากปลายสายติดสำเนียงเมดันอย่างชัดเจน “แต่ฉันก็คิดถึงนายนะ แค่นิดเดียว ไม่มีใครให้ทะเลาะด้วยที่ทำงานเนี่ย”
ริเวอร์หัวเราะ มันเป็นสิ่งที่เขาแทบไม่ได้ทำมาสามปีแล้ว
“เยี่ยม ในที่สุดก็ได้ยินนายหัวเราะอีกครั้ง แต่แค่นั้นมันไม่พอหรอก นายต้องตอบคำถามฉันก่อน จะกลับบ้านเมื่อไหร่ ริฟ”
ริเวอร์สูบควันบุหรี่เข้าไปก่อนตอบออกไป “บอกไม่ได้ว่ะอุล ยังไม่รู้เลยว่าจะกลับเมื่อไหร่ดี”
คนที่ริเวอร์เรียกว่า ‘อุล’ ชื่อว่าพอล ผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทและหุ้นส่วนบริษัทสถาปนิกที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยกันกับเพื่อนอีกสามคน พวกเขารู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัยไปจนถึงบัณฑิตวิทยาลัย จากออสตินไปจนถึงอีทากา วันอันแสนยากลำบากทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาแน่นแฟ้นดั่งพี่น้อง พวกเขากลับอินโดนีเซียพร้อมอุดมการณ์และความกระตือรือร้นที่ผลักดันให้พวกเขาก่อตั้งบริษัทสถาปนิกขึ้นมาเองโดยเริ่มต้นจากศูนย์ แทนที่จะทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีอยู่แล้ว
“ที่ออฟฟิศเป็นไงบ้าง ทุกอย่างโอเคไหม อุล”
“ทุกอย่างโอเคดี”
“ถ้าจะให้ช่วยอะไรก็อีเมลมาละกัน ฉันพร้อมช่วยเสมอ”
“รู้แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก” พอลกล่าว “ถ้ามีอะไรในใจหรือมีเรื่องอยากจะพูดก็โทรหาเพื่อนสนิทนายด้วยละกัน ยิ่งนายอยู่ที่นั่นนานเท่าไหร่ ฉันก็ได้ข่าวคราวจากนายน้อยลงเท่านั้น คือยังไง หมดตัวจนไม่มีเงินโทรหาเพื่อนเหรอวะ”
ริเวอร์แค่นหัวเราะเป็นคำตอบ
“นายโอเคดีหรือเปล่า” พอลถามอีกรอบ
“อืม ดีขึ้นแล้ว พวก นายเริ่มพูดจาเหมือนพ่อฉันแล้วนะ”
“นั่นแหละหน้าที่ของเพื่อนล่ะ บางครั้งเราก็เป็นเพื่อน เป็นพ่อ เป็นแม่ บางทีก็คนขับรถ”
“อ่า ถ้านายเป็นแม่ฉัน งั้นก็ขอเงินค่าขนมได้สินะ”
“ค่าขนมเหรอพวก อย่าพูดให้ตัวเองขายหน้าหน่อยเลย เอากระเป๋าสตางค์ออกมาดูวันเกิดบนบัตรประชาชนตัวเองบ้างนะ ไอ้เฒ่าเอ๊ย”
“นี่ อย่าพูดถึงอายุสิวะ” ริเวอร์พูด ทำเอาพอลหัวเราะก๊าก เขาเว้นช่วงไปครู่หนึ่งก่อนจะตัดสินใจจบบทสนทนา “ต้องไปแล้ว อุล ไว้จะโทรหา ฝากทักทายทุกคนที่บริษัทด้วย”
“โอเค ดูแลตัวเองดีๆ พวกเรารอนายกลับมาเสมอนะ อย่าลืม”
“ไม่ลืมหรอก”
ริเวอร์สูดควันบุหรี่เข้าไปอีกเฮือก ยังเหลืออีกหนึ่งในสามถึงจะหมดมวน ขณะที่เขายืนอยู่นอกร้านอีตตาลี เหม่อมองไปยังตึกแฟลตไอออนที่ฝั่งตรงข้ามของถนน และเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองในตอนนั้นกับตอนนี้
มีบุคคลสำคัญสองคนในชีวิตของเขาที่เป็นดั่งสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างชีวิตในอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน คนแรกคือแม่ คนที่สองคือเพื่อนสนิทอย่างพอล และวันนี้ทั้งคู่ต่างติดต่อมาหาเขา แม่โทรมา ส่วนพอลทิ้งข้อความไว้ ริเวอร์โทรกลับหาทั้งคู่ และมันก็เป็นอย่างที่คิด ทั้งสองคนถามคำถามเดียวกัน วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่เขาจากจาการ์ตามาใช้เวลาอย่างสันโดษที่นิวยอร์ก
เขาติดค้างพอลอยู่ไม่น้อย พอลต่อสู้ดิ้นรนร่วมกับเขาในการก่อตั้งบริษัทสถาปนิกขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่ตอนที่พวกเขามีแค่หน้าร้านเล็กๆ จนมาถึงจุดนี้ จุดที่พวกเขามีตึกสวยๆ เป็นของตัวเอง พอลยังเป็นคนแรกที่เข้าใจตอนริเวอร์ได้ทำการตัดสินใจอันน่าตกตะลึงอย่างการปลีกตัวไปอยู่นิวยอร์กเป็นเวลาหนึ่งปี พอลคือคนที่ดูแลบริษัทระหว่างที่ริเวอร์ทำตามการตัดสินใจของตน โครงการต่างๆ เดินหน้าต่อไปไม่มีปัญหา และริเวอร์ยังคงได้รับเงินจากการเป็นผู้ถือหุ้น แต่ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่พอลทำเพื่อเขามาตลอดเวลาที่เป็นเพื่อนกัน มีสิ่งหนึ่งที่ริเวอร์ไม่มีวันตอบแทนเขาได้
พอลคือคนที่แนะนำให้ริเวอร์รู้จักกับหญิงสาวที่วันหนึ่งได้กลายมาเป็นภรรยาของเขา
“ขอโทษที่ปล่อยให้รออยู่คนเดียวนะครับ” ริเวอร์กล่าวเมื่อกลับมานั่งที่เก้าอี้ตรงข้ามไรยา
“ไม่เป็นไรเลยค่ะ ฉันต่างหากที่ควรขอโทษ ฉันควรอยู่เป็นเพื่อนคุณแท้ๆ แต่ดันต้องอยู่ข้างในเพราะอากาศวันนี้”
ริเวอร์ไม่พูดอะไรนอกจากพยักหน้าเล็กน้อยแทนคำตอบ เขาถูมือไปมาและเป่ามือตัวเองเพื่อเพิ่มความอบอุ่น
“คุณวาดเสร็จหรือยังคะ” จริงๆ แล้วไรยาอยากรู้เรื่อง ‘พอล’ คนที่ส่งข้อความหาริเวอร์ ความอยากรู้อยากเห็นของนักเขียนนั้นบางทีก็ค่อนข้างละลาบละล้วงเลยล่ะ และเธอรู้ดี เธอเลยถามถึงภาพวาดของเขาอย่างสุภาพแทน โดยรู้ว่าเขาจะยอมตอบเรื่องนี้
“ครับ”
“ขอดูได้ไหมคะ”
ริเวอร์ยื่นสมุดสเก็ตช์ให้ไรยาแล้วยืนขึ้นทันที “ขอตัวสักครู่นะครับ ผมต้องไปเข้าห้องน้ำ”
ไรยาใช้เวลาห้านาทีต่อมาไปกับการเปิดดูสมุดสเก็ตช์ สังเกตทุกภาพวาดข้างใน หน้าทุกหน้าเต็มไปด้วยการแสดงออกด้านศิลปะของริเวอร์ เขาวาดไปแล้วแปดหน้าจากสามสิบ และภาพร่างตึกแฟลตไอออนของเขาก็ชวนให้ตกตะลึงเหมือนภาพอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ไรยาวาดรูปไม่เป็นเลย แต่เธอดูออกว่าภาพสเก็ตช์ที่ดีเป็นยังไง และภาพพวกนี้ก็ดีมาก ดีมากๆ
ไรยาคืนสมุดสเก็ตช์ให้ริเวอร์ตอนเขากลับมา เขาใช้มือข้างหนึ่งรับมาในขณะที่มืออีกข้างคว้าแก้วกาแฟที่เย็นแล้วขึ้นมาดื่มรวดเดียวหมด
“คุณยังอยากเขียนที่นี่อยู่ไหม”
“ทำไมเหรอคะ ริฟ”
“ผมหิวนิดหน่อยน่ะครับ อยากกินเชคแชคด้วย ถ้าคุณอยากนั่งที่นี่ ผมจะขอแวะไปซื้อแป๊บหนึ่ง”
“เดี๋ยวนะคะ มีเชคแชคแถวนี้ด้วยเหรอ”
“ครับ อยู่ในเมดิสันสแควร์พาร์กตรงข้ามนี้เอง คุณก็ชอบเชคแชคเหมือนกันเหรอ”
ไรยารีบพยักหน้าหงึกหงัก เธอไม่เคยห้ามตัวเองได้ถ้าเป็นเรื่องเบอร์เกอร์
“งั้นไปกันเลยไหมครับ” ริเวอร์ลุกขึ้นจากเก้าอี้
เชคแชคในเมดิสันสแควร์พาร์กเป็นจุดกำเนิดของอาหารจานด่วนเครือนี้เมื่อปี 2001 โดยเริ่มมาจากการเป็นแค่รถเข็นขายฮอตดอกที่มีลูกค้าต่อคิวซื้อยาวสุดลูกหูลูกตาตลอดเวลาตั้งแต่เปิดขายเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้มันกลายเป็นหนึ่งในร้านเบอร์เกอร์ที่ดังที่สุดในอเมริกา ตั้งแต่ปี 2004 รถเข็นขายฮอตดอกที่เปิดแค่ช่วงหน้าร้อนได้เปิดหน้าร้านถาวรเล็กๆ ที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมดิสันสแควร์พาร์ก ติดเมดิสันอเวนิวกับถนน 23 ฝั่งตะวันออก สิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนคือคิวที่ยาวเหยียด โดยเฉพาะในช่วงพักกลางวัน
โชคดีที่วันนี้มีคนต่อคิวอยู่แค่เจ็ดคน สิบห้านาทีต่อมาริเวอร์กับไรยาก็ได้นั่งกินเบอร์เกอร์กันอย่างสบายใจ ไรยาสั่งเบอร์เกอร์เห็ดมา ลองจินตนาการเห็ดพอร์โทเบลโลที่ทอดจนกรอบ เชดดาร์ชีสกับมึนสเตอร์ชีสละลายเยิ้ม เซเลอรี มะเขือเทศ กับซอสสูตรพิเศษในขนมปังเบอร์เกอร์อุ่นๆ ดูสิ ส่วนริเวอร์ที่ยอมรับว่าเขาหิวมากกว่าที่บอกไปก่อนหน้านี้เลือกเมนูที่หนักกว่าหน่อย นั่นคือเดอะเชคสแต็ค ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างชีสเบอร์เกอร์กับเบอร์เกอร์เห็ด
“รู้ไหม ริฟ ถ้าฉันรวยนะ สิ่งแรกที่ฉันจะทำคือซื้อแฟรนไชส์ของเชคแชคไปเปิดที่จาการ์ตา เปิดใกล้ๆ บ้านฉันเลย จะได้ไปกินเมื่อไหร่ก็ได้” ไรยาพูด เช็ดปากตัวเองด้วยกระดาษเช็ดปาก