LOVE
ทดลองอ่าน เจรจาต่อ-ตาย ตอน ราคะ บทที่ 7-บทที่ 9
“รอยสัก…” เธอพูดเบาๆ แล้วหันหลังไปยังเตียงแรก บุษบงกชเปิดผ้าคลุมศพของตุ่นขึ้นแค่ครึ่งเดียว เธอจับต้นแขนขวาของเขา “รอยสักรูปงูเหมือนกัน”
“สัญลักษณ์ของกลุ่มรึเปล่าคะ”
บุษบงกชหันไปดูศพของโอ่งอีกครั้ง “น่าจะใช่ แต่คนที่สองมีรอยจางกว่า น่าจะสักมานานกว่าคนแรก”
สัญชาตญาณของแพทย์ชันสูตรศพบอกให้เธอพลิกข้อมือของคนร้ายขึ้นมาดู แล้วเธอก็พบสิ่งที่คาดหวังไว้จริงๆ พจนีย์ที่กำลังพิมพ์ลายนิ้วมืออีกข้างจึงถามขึ้น
“อะไรคะหมอ”
“รอยกรีดเป็นตัวอักษร มีเหมือนกันแต่คนนี้เป็นตัวโอ (O)”
“ถ้าอักษรไม่เหมือนกันก็น่าจะแทนชื่อตัวมากกว่าแทนสัญลักษณ์แก๊ง”
“ใช่…พิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จแล้วบันทึกเรื่องนี้ไว้ในรายงานด้วยนะ”
“ได้ค่ะ”
ใบหน้าของศพดูเคร่งเครียด สีผิวซีดขาว อาจเป็นเพราะอยู่ในภาวะวิกฤติก่อนเสียชีวิตจึงทำให้ระบบเลือดทำงานไม่ปกตินัก ซ้ำรอยแผลที่ปรากฏก็อนุมานได้ว่าเขาคงเสียเลือดไปมาก บุษบงกชยังคงสังเกตลักษณะภายนอกของคนร้ายอยู่ แล้วบริเวณใบหน้าของเขาก็ทำให้เธอสนใจอีกครั้ง
“ที่ริมฝีปากมีอะไรบางอย่างติดอยู่ ลักษณะเป็นมันวาวเล็กน้อยนะ พจเอาก้านสำลีมาหน่อยซิ”
บุษบงกชรับก้านสำลีมาจากพจน์แล้วค่อยๆ ปาดไปที่ริมฝีปากของคนร้าย ดูเหมือนนอกจากความมันวาวแล้วมันยังให้สีแดงจางๆ ติดมาด้วย หากไม่ปาดขึ้นมาสีริมฝีปากกับสีผิวของคนร้ายก็สามารถปิดบังมันไว้ได้พอประมาณ
“เฮ้…” บุษบงกชอุทาน
“อะไรคะหมอ”
“ยังไม่แน่ใจ ขอถาดหน่อย”
พจนีย์ยื่นถาดสแตนเลสมารับก้านสำลีไปจากมือบุษบงกช จากนั้นคุณหมอก็ใช้นิ้วแหวกริมฝีปากของคนร้ายขึ้น เธอดูลึกไปถึงฟันหน้าของเขา พจนีย์ยื่นสำลีมาให้อีกก้านโดยที่ไม่ต้องร้องขอ บุษบงกชปาดคราบซึ่งติดอยู่ที่ฟันของเขาขึ้นมา
“ตรงริมฝีปากอาจจะหลุดไปบ้างเพราะกระบวนการกู้ชีพคนร้ายในคืนที่ผ่านมา แต่ที่ติดอยู่บนฟันนี่ชัดเลย”
บุษบงกชยื่นไปตรงหน้าผู้ช่วยของเธอ สีที่ติดมาบนก้านสำลีนั้นชัดกว่าอันแรก
“อย่าบอกนะว่าสิปสติก”
“ชัวร์ ไม่ใช่เลือดแน่นอน”
“แฟชั่นใหม่หรือไปโรแมนติกกับใครมาก่อนตาย”
“อย่างดูดดื่มด้วย ถ้ามันติดแน่นอย่างนี้ก็แสดงว่าต้อง…” บุษบงกชพูดแค่นั้นแล้วเงียบ
“คะ?”
“เอ่อ ช่างเถอะ เขียนในรายงานว่าพบคราบลิปสติกบนฟันกับริมฝีปากก็แล้วกัน”
“ได้ค่ะ หนูว่าสารวัตรต้องปวดหัวแน่”
พจนีย์คิดถึงเจ้าของคดี แต่อีกคนพยายามไม่สนใจ เธอยังคงค้นหาสิ่งที่ซ่อนไว้ในร่างกายนี้ต่อไป
เรือนนอนไม้ของเด็กประถมตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านซ้ายมือ อาคารสำหรับเด็กเล็กอยู่กึ่งกลางพื้นที่ ส่วนด้านขวาเป็นพื้นที่ของเด็กมัธยม ทุกอาคารถูกเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินซึ่งปลูกต้นกระดังงาให้คลุมหลังคาไว้ ดอกของมันส่งกลิ่นหอมแรงและบางครั้งกลายเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง ขณะนี้เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนแล้ว สถานสงเคราะห์จึงเต็มไปด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าวอีกครั้ง อิ๋วจำความรู้สึกดีใจที่ได้กลับมายังเรือนนอนได้ดี แม้บ้านของเธอจะเป็นเพียงแค่สถานสงเคราะห์แต่ก็ยังดีกว่าโรงเรียนรัฐที่เธอถูกส่งไปเรียน เพราะในโรงเรียนเด็กกำพร้าอย่างพวกเธอมักจะไม่ได้รับการยอมรับนัก หากไม่โดนแกล้งก็โดนตั้งแง่รังเกียจ ความรู้สึกตอนอยู่ชั้นประถมนั้นเธอจึงพยายามเรียนให้ดีเพื่อจะได้เป็นที่รักของคุณครูและเพื่อน อีกใจเธอก็อยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อที่จะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอีก
แต่เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเธอก็ได้รู้ความจริงว่าการโตเป็นผู้ใหญ่นั้นเจ็บปวด เมื่อเด็กกำพร้าที่เรียนจบและมีอายุถึงเกณฑ์จะต้องออกจากสถานสงเคราะห์ เธอไม่สามารถที่จะมีชีวิตในบ้านของเธอตลอดไปได้ การไม่มีพ่อแม่เป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่การที่จะต้องสูญเสียสถานที่พึ่งพิงเพียงแห่งเดียวในชีวิตเป็นสิ่งที่ทรมานแสนสาหัสยิ่งกว่า เพราะมันยิ่งตอกย้ำว่าเธอโดดเดี่ยวและไม่มีใครต้อนรับเธอ หลังจากที่อิ๋วรู้ความจริงข้อนั้นแล้วเธอก็เปลี่ยนไป…
หญิงสาวเริ่มเก็บตัวและมีผลการเรียนที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนปีการศึกษาหนึ่งอิ๋วก็ต้องซ้ำชั้น จากที่เคยเป็นที่รักของครูก็ถูกจับตามองในแบบใหม่ เธอมักจะถูกเรียกว่า ‘เด็กกำพร้าผู้มีปัญหา’ นั่นเป็นเพราะเธอไม่มีใครให้ปรึกษา ทุกคนเป็นคนอื่นและไม่พร้อมที่จะรับฟัง เข้าใจ หรือโอบกอดเธอในยามที่เธอต้องการ กว่าครูจะเข็นให้อิ๋วจบการศึกษาระดับมัธยมได้หญิงสาวก็มีอายุเกือบยี่สิบปีแล้ว และกฎก็ต้องเป็นกฎ แม้จะพยายามดึงดันหรือต่อเวลาให้ตัวเองมากเท่าไรในที่สุดเวลาที่เลวร้ายก็จะมาถึงเสมอ อิ๋วเรียนรู้แล้วว่าชีวิตของเธอเป็นอย่างนั้น
ระหว่างที่ความคิดยังตกอยู่ในภวังค์ของอดีต เด็กผู้หญิงตัวเล็กอายุราวห้าหรือหกปีคนหนึ่งก็วิ่งเข้ามาหา เด็กน้อยมาหยุดยืนตรงหน้าเธอแล้วยกมือขึ้นสะกิดถาม
“มาหาใครคะ”
“เอ่อ ฉันมาทำธุระน่ะ”
“ธุระคืออะไรคะ”
อิ๋วยิ้ม “ธุระหมายถึงเรื่องที่ต้องทำ ฉันจะมาพบครูผู้ปกครองของที่นี่จ้ะ”
“น้าเป็นแม่ของใครคะ จะมารับเขากลับไปแล้วใช่ไหม”
จู่ๆ ความรู้สึกภายในก็สั่นไหว ระลอกคลื่นของความว้าเหว่กำลังตีตื้นขึ้นมาถึงลำคอ เธอพยายามสะกดมันเอาไว้ ความรู้สึกนั้น…ความรู้สึกที่เด็กทุกคนในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าต้องมี นั่นคือการหวังว่าจะมีใครสักคนมารับพวกเขากลับบ้านในวันใดวันหนึ่งของชีวิต อิ๋วทรุดเข่าลงแล้วจ้องมองใบหน้าอ่อนเยาว์ด้วยความรู้สึกเห็นใจ
“หนูต้องเข้มแข็ง แม้ว่าจะไม่มีใครมาหาหรือมารับกลับบ้าน หนูก็ต้องอยู่คนเดียวให้ได้”
เด็กน้อยเอียงคอมองหน้าเธอ ไม่ค่อยเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคนตรงหน้ามากนัก แต่ก็ยังรับฟังด้วยความสงบ
“เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปข้างนอก หนูต้องเอาตัวรอดให้ได้ อย่าให้ใครมาหลอกเข้าใจไหม”
“มาหาใครคะ”
เสียงหนึ่งถามขึ้นจากทางด้านหลัง อิ๋วหันกลับไปมองพบหญิงวัยกลางคนในชุดเครื่องแบบของครูผู้ปกครอง เด็กน้อยเมื่อเห็นครูเดินเข้ามาใกล้ก็รีบวิ่งหายไป
“มีธุระอะไรกับสถานสงเคราะห์รึเปล่าคะ”
“ฉันเคยอยู่ที่นี่ค่ะ” อิ๋วรับสารภาพในที่สุด
“อ๋อ แล้วคุณมีธุระอะไร” น้ำเสียงนั้นทั้งเฉียบคมและสงสัย
“ฉันอยากฝากจดหมายไว้ให้คนที่จะมาหาฉันที่นี่ค่ะ”
“เราไม่รับฝากเรื่องแบบนั้นหรอกนะคะ เด็กที่จบออกไปแล้วไม่ค่อยมีใครกลับมาที่นี่อีก”
“ฉันรู้ค่ะ คนที่ถูกกำจัดออกไปแล้วมักจะไม่อยากกลับมา”
สายตาเย็นชาของอิ๋วทำให้ครูผู้ปกครองซึ่งอายุมากกว่าไม่อยากเกรงใจอีก เธอจึงยืนยันคำเดิม “กลับไปเถอะค่ะ ที่นี่ไม่รับฝากของ”
“งั้นให้ฉันพบแม่ครัวของที่นี่หน่อยได้ไหม”
คนฟังขมวดคิ้ว “ป้าอุ๊น่ะเหรอ”
“ใช่ ฉันมีเรื่องจะคุยกับเขา”
เกิดความเงียบชั่วอึดใจก่อนที่ครูจะยอม “ก็ได้ จะตามมาให้”
อิ๋วยืนมองแผ่นหลังของครูซึ่งเดินไปทางห้องครัว มีความทรงจำเดียวที่ยังคงเด่นชัดแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนกับคำสอนที่ยังคงจำได้ แม้บางครั้งเธอจะไม่เชื่อ ‘ชีวิตทุกชีวิตต้องมีความหวัง ถ้าอิ๋วหมดหวังเมื่อไร มันก็เหมือนคนตายไปแล้ว อย่าใช้ชีวิตเหมือนคนตาย อิ๋วมีค่ามากกว่านั้นจำไว้’