10 สิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ ‘น้อง.พี่.ที่รัก’ – Jamsai
Connect with us

Jamsai

บทสัมภาษณ์

10 สิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ ‘น้อง.พี่.ที่รัก’

นี่คือภาพยนตร์ไทยที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เรื่องราวของพี่กับน้องที่ไม่ลงรอยกัน​ “น้อง.พี่.ที่รัก” ผลงานหนังครอบครัวและคอเมดี้อารมณ์ดีจากค่าย GDH 559 ที่นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, อุรัสยา เสปอร์บันด์ และนิชคุณ หรเวชกุล กำกับโดย บอล วิทยา ทองอยู่ยง

น่าจะมีหลายคนที่ได้เข้าโรงภาพยตร์ไปชมกันมาบ้างแล้ว น่าจะได้รับแง่มุม อารมณ์และความสนุกต่างๆ จาก “น้อง.พี่.ที่รัก” ไม่มากก็น้อย หลังการพูดคุยกับผู้กำกับ ทำให้พบว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราอาจไม่รู้เกี่ยวกับตัวหนังอยู่พอสมควร ได้เวลาเปิดเผยให้ได้อ่านกันแล้ว

 

1. การทำงานช่วงที่ผ่านมา

ถ้านับจาก “บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้)” ที่ฉายในปี 2010 ก็ถือว่าห่างกัน 8 ปีแล้ว ผมก็ทำพวก โปรดักชัน พวกงานออนไลน์อยู่เรื่อยๆ ครับ เป็นพวกโฆษณาทั้งแบบโฆษณาปกติ และพวกโฆษณาออนไลน์แบบที่เหมือนกึ่งๆ หนังสั้น โปรเจกต์ “น้อง.พี่.ที่รัก” เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วครับ ทำบท 2-3 ปีแล้วก็โปรดักชั่นพอดีครับ

 

2. การหยิบประเด็นพี่น้องหรือครอบครัวมาใส่ในภาพยนตร์

จริงๆ สนใจทำหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนครับ ความสัมพันธ์แบบใกล้ตัวหรือที่คนดูสามารถ relate ได้ จริงๆ เรื่องพี่น้องก็เป็นอะไรที่ผมสนใจ ผมรู้สึกว่าความสัมพันธ์เรื่องพี่น้องเนี่ย มันเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ หาคำจำกัดความยาก มันไม่เหมือนความสัมพันธ์แบบพ่อแม่กับลูกที่จะเอกฉันท์ ไม่มีเงื่อนไข แบบว่ายังไงเราก็รัก แต่ความสัมพันธ์แบบพี่น้องเนี่ย บางทีก็รักบางทีก็ไม่รัก ทะเลาะกันง่ายมาก บทจะดีกันก็แทบจะไม่ต้องพูดอะไร แค่แบบ วันนี้ ซื้อขนมมาฝาก หรือซื้อข้าวมาให้ ซึ่งอะไรแบบนี้ สำหรับคนดูทั่วไปจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้ตัวแบบทำไมต้องออกจากบ้านมาดู มันเลยทำให้เกิดความรู้สึกท้าทาย

 

3. ที่มาของการเลือกคาแรคเตอร์

พอคิดว่าจะทำเรื่องพี่น้อง ต้องมาเลือกว่าพี่น้องแบบไหนที่เราจะเลือก ซึ่งอย่างที่บอก มันไม่เอกฉันท์เหมือนแม่ลูก แต่ละบ้านพี่น้องมันไม่เหมือนกันเลย สุดท้ายก็สนใจเรื่องพี่น้องต่างเพศ ที่ทำให้สามารถใส่เรื่องคนรักของใครสักคนนึงเข้ามาได้ เพื่อให้พี่น้องได้ปะทะกันมากยิ่งขึ้น นิสัยก็ต้องไม่เหมือนกัน อย่างในหนังก็คือพี่ห่วย น้องเก่งมาก ระหว่างเขียนบท ตัวแรกที่ผมนึกขึ้นมาก่อนเลยเป็น ซันนี่ ที่รับบทพี่ชาย พอเลือกได้คนนึงแล้วมันจะง่าย น้องสาวต้องเป็นลูกครึ่งผู้หญิง ชื่อเดียวที่ผมนึกก็คือ ญาญ่า แต่ไม่รู้เป็นไปได้แค่ไหน เพราะไม่เคยเห็นเขาเล่นหนัง ก็ลองชวนดู น้องเขาก็สนใจอยากเล่น ชวนตั้งแต่บทยังไม่เสร็จเพราะมองว่าเขาต้องวางแผนคิวงาน

ส่วนตัวที่รักเนี่ย เราอยากได้ลูกครึ่งญี่ปุ่นจริงๆ ปัญหาคือคนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยเป็นปีๆ ก็ยังพูดไทยไม่ชัด แถมในเรื่องยังมีไดอะล็อกที่ต้องคอเมดี้ ถ้าฟังไม่ออก มุกมันจะแป้ก ซึ่งมันจะไม่ถึง ถ้าหันมาทางคนไทยที่ดูหน้าตาเป็นญี่ปุ่น ก็รู้สึกว่า ธรรมชาติของคนญี่ปุ่น เนี่ยใครก็เลียนแบบไม่ได้ นิชคุณคือคนตรงกลาง เพราะว่าเป็นคนไทยแต่ชีวิตเขาอยู่เมืองนอกตลอด ส่วนใหญ่อยู่เกาหลี แต่ก็ไปทำงานเล่นซีรีส์ที่ญี่ปุ่นและจีน ถ้าสังเกตดีๆ เขาจะพูดไทยไม่ค่อยชัด ทำให้ดูเชื่อว่าเป็นชาวต่างชาติ และสามารถพูดไทยในเชิงคอเมดี้ได้ ก็เลยเป็นการลงตัวชนิดที่เกินความคาดหวังของผม จากซูเปอร์สตาร์มันกลายเป็นซูเปอร์แคสต์

4. ทำไมต้องเป็นนกฮูกที่อยู่กับซันนี่ในภาพยนตร์

มันเป็นความหมายที่สนุกสำหรับคนทำ เวลาที่ผมอธิบายเรื่องนี้มีแต่คนบอก ใครจะเข้าใจ ซึ่งในหนังก็คือ พี่มันห่วยขนาดมีเพื่อนเป็นนกฮูก สำหรับผม มันจะมีความหมายซ่อนๆ อยู่ ก็คือ นกฮูกมันเป็นพยัญชนะตัวสุดท้าย เหมือนเป็นที่โหล่ อะไรอย่างเนี้ย

 

5. ในหนังจะเห็นว่าพี่น้องทะเลาะกันตลอด จริงๆ เขาแสดงความรักต่อกันแบบไหนบ้างในเรื่อง

ถ้าดูหนัง เราจะรู้สึกว่า จริงๆ เขารักกัน มันเป็นภาพแทนความสัมพันธ์พี่น้องแบบคนไทย แบบคนเอเชีย คือจะไม่แสดงออก เราจะไม่กอดกัน ถ้าเจาะลงไปที่พี่น้อง เวลาทำผิด โกรธกัน ก็จะไม่เคยขอโทษกันนะ แต่ก็จะดีกันง่าย หายกันเร็ว แล้วก็แสดงความรู้สึกทางสีหน้าแววตา ซึ่งอาจจะเป็นความหมายอย่างที่ว่า เพราะทั้งพี่และน้องมันไม่ชัชเจน (ชัดเจน) นี่แหละ

 

6. เหตุผลที่เลือกกีฬาเบสบอล

เบสบอลเป็นกีฬาที่เป็นตัวแทนความผูกพันบางอย่างของพี่กับน้อง ถ้าพูดถึงการ์ตูนญี่ปุ่น ในยุคสมัยผม เบสบอลมันมากกว่าฟุตบอล มากกว่ายูโด หรืออะไรที่เป็นกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น นอกจากนั้นในบทเอง ตัวละครจะพูดแหละว่า ชีวิตของน้องมาได้ขนาดนี้ เพราะพี่ชายเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นแง่ดีหรือร้าย นิสัยดีและไม่ดีทั้งหลายก็เพราะพี่ ทั้งๆ ที่คนเป็นพี่ก็ไม่ได้สอนอะไรขนาดนั้น ถ้าสังเกต บ้านของเจนที่ญี่ปุ่นก็จะเหมือนบ้านของโนบิตะ หรือฉากในญี่ปุ่น มันจะมีความรู้สึกเหมือนในหนังสือการ์ตูน

 

7. เหตุผลที่เลือกจังหวัดมหาสารคาม

เราต้องการจังหวัดที่มากรุงเทพฯ ยาก เพราะว่าที่กรุงเทพฯ มันจะมีแค่พี่กับน้อง ส่วนแม่กับป้าเขาไม่ได้มาหาบ่อยๆ เพราะฉะนั้น พี่กับน้องก็จะปะทะกันแทบจะทุกวัน ก็เลยเลือกจังหวัดมหาสารคามที่ไกลพอสมควรแล้วก็ไม่มีสนามบิน อีกปัจจัยหนึ่งก็คือหนัง GTH/GDH นอกจาก “15 ค่ำ เดือน 11” ยังไม่มีเรื่องที่เกิดขึ้นที่ภาคอีสานเลย ที่นี่ไม่มีสนามบิน และมีน้องในทีมเขียนบทอยู่ที่จังหวัดนี้ ก็จะสามารถเช็คเรื่องความ realistic บางอย่างได้

8. ฉากประทับใจในเรื่อง

จริงๆ เวลาผมดูช่วงตัดหนัง ผมก็จะดูมา 40-50 รอบ ซีนที่มีญาญ่า ผมจะรู้สึกโดนเป็นพิเศษ คือตั้งแต่ตอนถ่าย ที่ญาญ่ามารับทุนคนเดียว บ้านอื่นเขามากันเป็นครอบครัว ผมก็จี๊ดแล้ว ยิ่งช่วงท้าย ซีนที่มีญาญ่า ก็จะโดนทุกครั้ง ถ้าพูดในฐานะที่เป็นคนดูแล้วชอบซีนไหน ที่ดูทุกครั้งแล้วรู้สึกใกล้เคียง ก็คือซีนที่ญาญ่าเล่นเดี่ยวๆ

 

9. ถ้าให้เลือกเป็นตัวละครในเรื่องนี้

ก็คงเป็นพี่ชายมั้งครับ ผมมีน้องชายกับน้องสาว น้องๆ ผมจะอายุไล่ๆ กัน แต่ผมจะห่างกับพวกเขาเยอะหน่อย ผมมักจะโดนสองคนนี้เม้าท์ เวลาเขาคุยไลน์ แล้วผมเข้าไปคุยด้วยภาษาที่มันมีลีลา น้องๆ จะชอบแซวกัน อย่างเช่น จะนัดกันไปกินข้าว นัดกันกี่โมง บางทีก็แบบถามว่ากี่โมง 4-5 โมงมั้ย ผมก็จะตอบ “ราวๆ นั้น” อะไรแบบนี้ครับ น้องก็จะแซวๆกัน คือไม่ตอบเจาะจงเวลา

 

10. นิยามความเป็นพี่ในสายตาน้องๆ

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามองผมยังไง แต่ถ้าเอาแบบเทียบกับเรื่องนี้ อาจจะตรงกันข้ามหน่อย ผู้ชายในบ้านจะเรียนเก่ง แต่น้องสาวจะเรียนไม่เก่ง แต่เวลาทำบทเนี่ย คือเราไม่ได้ยกชีวิตเรามาใส่ให้ซันนี่-ญาญ่าเล่น เราจะแทนค่าเอา เช่น พี่ห่วย น้องเก่ง เราก็ต้องแทนค่าแง่มุมที่เรารู้สึกว่าเราห่วย อย่างการทำงานของผมมันทำให้วันหยุดไม่ตรงกับน้องๆ เรามักเป็นคนที่กลับบ้านไม่เป็นเวลา วันหยุดยาวๆ เราไม่ได้กลับ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นน้องสาวที่ขับรถพาแม่ไปซื้อของ ผมก็มองว่าน้องสาวเป็นเสาหลักของบ้าน เขากลับบ้านทุกครั้งที่เป็นวันหยุด พ่อแม่ก็อยู่ต่างจังหวัดกันสองคน ลูกเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ​ กันหมด แต่เวลาหยุด น้องสาวก็จะดูแลพ่อกับแม่ ส่วนผมก็ไม่ค่อยจะมีเวลาให้ นานๆ กลับบ้านที เราก็จะแทนค่าว่าตรงนี้เราดูห่วยกว่าน้อง

นอกจากนี้ พี่บอล วิทยา ผกก. ‘น้อง.พี่.ที่รัก’ ยังเสริมอีกว่า ถ้าผมมีโอกาสมีลูก ผมจะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน เหตุผลเดียวเลยคือ อยากให้ลูกมีพี่น้อง เพราะมันเป็นสิ่งดีครับ การที่มีใครสักคนที่หน้าตาคล้ายๆ กัน นิสัยไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ไม่ต้องรักกัน มีมันอยู่ข้างๆ มันเป็นสิ่งดีครับ

อ่าน “น้อง.พี่.ที่รัก” แบบออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่ JamPlay    คลิกที่นี่

Comments

comments

No tags for this post.
Continue Reading

More in บทสัมภาษณ์

บทความยอดนิยม

everY

ทดลองอ่าน เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 Chapter 2.1-2.2 #นิยายวาย

ทดลองอ่าน เรื่อง เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 ผู้เขียน : MINTRAN แปลโดย : ทันบี ผลงานเรื่อง : 배타적 연애 금지구역 ถือเป็นลิขสิทธิ์...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 1-2

บทที่ 1 ฮ่องเต้หญิง   “ท่านพี่นำร้อง น้องหญิงคลอรับ ท่านพี่เสียงเพิ่งลับ น้องหญิงสลับขึ้นเวที เป็นมารดาอารี มีบุตรีกตัญญ...

ทดลองอ่าน

ทดลองอ่าน ร้อยเรียงรักเคียงฤทัย บทนำ – 1.2

บทนำ ความหลังของต้าลี่ 1   ฤดูหนาวในรัชศกต้าลี่ปีที่สิบเอ็ด โม่เป่ย ตำบลค่งหม่า สถานที่แห่งนี้คือประตูด่านสำคัญสุดท้ายทา...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 7-8

บทที่ 7 ค่าเดินทาง เมื่อภูตสุนัขดำคืนร่างเป็นสุนัขธรรมดาตัวหนึ่ง ภูตบุปผาสองตนนั้นก็ไม่อาจทำการใหญ่ ต่อให้ชาวหมู่บ้านป่า...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 3-4

บทที่ 3 เกิดใหม่   เวิ้งฟ้าดำสนิทปานน้ำหมึก เพียงมีดวงดาวบางตากระจัดกระจายบนม่านฟ้า ทอรัศมีอ่อนจางประเดี๋ยวเผยประเดี๋ยวเ...

community.jamsai.com