จะขอทำตามคำสอนของพ่อ – Jamsai
Connect with us

Jamsai

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

จะขอทำตามคำสอนของพ่อ

คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ล้วนมุ่งเน้นให้เราคนไทยเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น นั่นก็เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม หากเราทำตามคำสอนของพระองค์ได้ ชีวิตเราก็ย่อมต้องพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ดังเช่นตัวอย่างคำสอนเหล่านี้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงเคยให้โอวาทไว้ในวโรกาสต่างๆ เราสามารถนำมายึดเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตได้จริงๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนและในด้านการทำงานเช่นกัน

 

พ่อสอนให้เรารู้จักประหยัดอดออม

 

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

 

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502


 

พ่อสอนให้เราทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน

 

“การทำงานด้วยใจรักนั้น ต้องหวังผลงานเป็นสำคัญแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงคนโดยมากไม่ชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”

 

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506


 

พ่อสอนให้เราเป็นคนดีเพื่อบ้านเมือง

 

“ในบ้านเมืองนี้ มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

 

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512


 

พ่อสอนให้เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

 

“สามัคคีนี้ก็คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้ เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม”

 

พระราชดํารัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519


 

พ่อสอนให้เรามีความปรองดอง

 

“ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ หากมีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความมีความเป็นปึกแผ่น”

 

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ 29 ตุลาคม 2517


 

พ่อสอนให้เราเคารพความคิดผู้อื่น

 

“เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ถ้าหากว่าในด้านไหนก็ตาม เวลาไปปฏิบัติให้ถือว่าเราเป็นนักเรียน ชาวบ้านเป็นครู หรือธรรมชาติเป็นครู การที่ท่านทั้งหลายจะออกไปหลายๆที่หรือจะไปในหลายๆ ด้าน ก็ต้องเข้าใจว่า เราอาจจะเอาความรู้ไปให้เขา แต่ก็ต้องนับถือความรู้ของเขาด้วย จึงจะมีความสำเร็จ”

 

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.สกลนคร 22 พฤศจิกายน 2528


 

พ่อสอนให้เราเปิดรับความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”

 

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2533


 

พ่อสอนให้เรารู้จักมองเห็นความสำคัญของผู้อื่น

 

“เมื่อทำงานใหญ่ๆ ซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อยหลายๆ ส่วน หรือมีขั้นตอนปฏิบัติหลายขั้นตอน จะต้องถือว่างานทุกขั้นทุกส่วนมีความสำคัญ และต้องพยายามกระทำงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนนั้นให้เสร็จสมบูรณ์ พอเหมาะพอดีเสมอกัน ไม่ละเว้นหรือไม่เน้นหนักในส่วนหนึ่งส่วนใดให้เกินพอดีไป งานที่ทำจึงจะสำเร็จผลสมบูรณ์แท้จริงโดยไม่มีจุดบกพร่อง”

 

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม 2535


 

พ่อสอนให้เรารู้จักความพอดี

 

“ชีวิตของคนเราก็ตาม ชีวิตของหมู่คณะก็ตาม หรือประเทศชาติก็ตาม ก็ย่อมต้องประสบความเจริญและความเสื่อม สลับกันไปเป็นธรรมดา ทุกคนก็ทราบดีว่า ในชีวิตของแต่ละคนก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์ อันนี้เป็นประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไปก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทุกข์มาก ความเป็นอยู่ของคนเราอยู่ไม่ได้ มันตรอมใจ ไม่มีกำลังใจ ลงท้ายก็ล่มจม”

 

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2536


 

พ่อสอนให้รู้จักคิดก่อนพูดทุกครั้ง

 

“ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูด ทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควรหยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

 

พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540


 

Comments

comments

Continue Reading
Click to comment

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

More in บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

บทความยอดนิยม

everY

ทดลองอ่าน เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 Chapter 2.1-2.2 #นิยายวาย

ทดลองอ่าน เรื่อง เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 ผู้เขียน : MINTRAN แปลโดย : ทันบี ผลงานเรื่อง : 배타적 연애 금지구역 ถือเป็นลิขสิทธิ์...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 1-2

บทที่ 1 ฮ่องเต้หญิง   “ท่านพี่นำร้อง น้องหญิงคลอรับ ท่านพี่เสียงเพิ่งลับ น้องหญิงสลับขึ้นเวที เป็นมารดาอารี มีบุตรีกตัญญ...

ทดลองอ่าน

ทดลองอ่าน ร้อยเรียงรักเคียงฤทัย บทนำ – 1.2

บทนำ ความหลังของต้าลี่ 1   ฤดูหนาวในรัชศกต้าลี่ปีที่สิบเอ็ด โม่เป่ย ตำบลค่งหม่า สถานที่แห่งนี้คือประตูด่านสำคัญสุดท้ายทา...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 7-8

บทที่ 7 ค่าเดินทาง เมื่อภูตสุนัขดำคืนร่างเป็นสุนัขธรรมดาตัวหนึ่ง ภูตบุปผาสองตนนั้นก็ไม่อาจทำการใหญ่ ต่อให้ชาวหมู่บ้านป่า...

จุติรัก พลิกชะตาร้าย

ทดลองอ่าน จุติรัก พลิกชะตาร้าย บทที่ 3-4

บทที่ 3 เกิดใหม่   เวิ้งฟ้าดำสนิทปานน้ำหมึก เพียงมีดวงดาวบางตากระจัดกระจายบนม่านฟ้า ทอรัศมีอ่อนจางประเดี๋ยวเผยประเดี๋ยวเ...

community.jamsai.com