ทดลองอ่านนิยาย ตราบแผ่นดิน… สิ้นกาลเวลา เล่ม 1 บทที่ 1 – บทที่ 2 – Jamsai
Connect with us

Jamsai

LOVE

ทดลองอ่านนิยาย ตราบแผ่นดิน… สิ้นกาลเวลา เล่ม 1 บทที่ 1 – บทที่ 2

บทที่ 1 เมื่อสิ่งนี้มี…สิ่งนี้จึงมี

 

สนามบินสุวรรณภูมิ ด้านหน้าประตูทางออกของผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศยังคงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งที่มารับเป็นการส่วนตัวและทั้งมารับเพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ

หญิงสาวชายหนุ่มคู่หนึ่งยืนอยู่ที่เคาน์เตอร์ขายเครื่องดื่มทั่วไป หญิงสาวรูปร่างสมส่วน ผมยาวดัดทรงทันสมัยท่าทางสง่าและมีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนผู้เป็นชายหนุ่มคล้ายอยู่ในชุดลำลองของทหาร รูปร่างของเขาเพรียวค่อนไปทางสูง หากดูในรายละเอียดแล้วจะรู้สึกว่าทั้งสองมีส่วนละม้ายกัน

ชายหนุ่มดูนาฬิกาพลางถอนหายใจอย่างหงุดหงิด

“นี่ ตารบ เดี๋ยวก็มา ไม่ต้องใจร้อนหรอก” อีกฝ่ายบอกอย่างรู้ใจ

“พี่พรรณ นี่ก็นานแล้วนะครับ อะไรจะช้าขนาดนั้น ผมบอกจะให้เพื่อนพาไปรับที่หน้าเครื่องก็ไม่ยอม ต้องมารออย่างนี้ แล้วนี่ยังไม่เปิดโทรศัพท์อีก” เขาพูดเหมือนไม่ใช่เรื่องยากกับการอำนวยความสะดวกในสนามบินนานาชาติแห่งนี้

“ก็พี่ไม่อยากให้เอิกเกริกนี่ยะ ตอนนี้อาจจะกำลังรอกระเป๋าอยู่ก็ได้ รู้ๆ กันอยู่ว่ายายณิมันจอมเถลไถล” พรรณพิลาศรู้ใจคนที่มาถึงอยู่หรอกว่าไม่ชอบลัดคิวคนอื่นเพื่อความสะดวกของตัวเอง นี่ยังไม่รวมกับเรื่องซุ่มซ่ามเป็นที่หนึ่งที่ต่างคนต่างรับรู้กันดีมาตั้งแต่เด็กอีกนะ

“ข้าวของขนไหวหรือเปล่า เอามากี่ใบก็ไม่รู้” คนพูดพลางแตะแขนพี่สาวให้ขยับหลบกลุ่มนักเดินทางชุดใหญ่

“ผู้ชายอะไรไม่รู้ ขี้บ่นจัง มิน่าถึงได้กินแห้ว” พันรบหน้าร้อนเมื่อถูกพี่สาวกัดเจ็บๆ

“ยังไม่แต่งก็พอมีหวังแหละน่า” ชายหนุ่มคิดในใจ ก็ได้แต่คิดแค่นั้นเพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม รู้ว่าคำตอบยังเป็นเช่นเดิม

เสียงโทรศัพท์มือถือของพรรณพิลาศดังขึ้นมาเสียก่อน

“นี่ไง โทรมาแล้ว” หญิงสาวยื่นให้น้องชายดูหน้าจอก่อนจะรีบรับสาย

“ว่าไงจ๊ะ…แม่จอมยุ่ง เมื่อไหร่จะออกมา ยืนคอยจนขาแข็งแล้ว” หญิงสาวหัวเราะคิกคักเหมือนกับกำลังคุยเรื่องขำขันกันอยู่ “เออๆ รีบออกมานะ มีคนบ่นแล้วบ่นอีกอยู่ใกล้ๆ นี่”

พี่สาวสั่งคนปลายสายแล้วบอกกับเขา “ช่วยคนแก่อยู่”

พันรบส่ายหน้า เป็นที่ทราบกันดี เหตุแห่งการเถลไถล ไม่คนแก่ก็เด็ก ไม่เด็กก็คนพิการ ไม่อย่างนั้นก็…ไม่มีเหตุผล

อีกกว่าสิบนาที ชายหนุ่มก็เห็นคนที่กำลังชะเง้อหา

“เฮ้ นั่นไง! ณิ ยายณิ ทางนี้!” พรรณพิลาศชูมือขึ้นประจวบกับคนที่เพิ่งออกมาจากประตูทางออกส่งยิ้มพร้อมกับผลักรถเข็นกระเป๋าออกมา พันรบไม่รอช้ารีบเดินไปรับ ถ้านับระยะเวลาที่ไม่ได้เจอกันก็ไม่ถือว่ายาวนานเท่าไหร่ เพราะปกติก็ไปมาหาสู่กันเสมอ แต่เหตุที่มาพบกันครั้งนี้ดูพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ

“ขอโทษนะที่ให้รอนาน พอดีมีคนแก่คู่หนึ่งเขามาเที่ยวก็เลยช่วยเขาหน่อย เขาจะได้ประทับใจประเทศไทยของเรา” หน้าตาคนขอโทษไม่มีวี่แววสำนึกผิด พันรบทราบดี ไม่มีใครที่จะไม่ให้อภัย ไม่ว่าจะครั้งไหนหรือสาเหตุใดก็ตาม

เขามองร่างบางจนเกือบเรียกได้ว่าผอมแต่พรางไว้ด้วยเสื้อตัวนอกเข้าไปสวมกอดกับพี่สาว ผมของหล่อนยังตัดสั้นติดท้ายทอยเหมือนเด็กผู้ชายเช่นเดิม

“ว่าไง พ่อนักรบ” ผู้มาใหม่เอื้อมมือมาเขี่ยที่แขนเป็นเชิงทักทายแกมขอลุแก่โทษ ส่วนพี่สาวทำท่าพยักพเยิดทำนองว่าเขารอนาน

หล่อนพูดภาษาอังกฤษออกมาประโยคยาวเป็นทำนองปลอบใจ แล้วก็ควงแขนกับพรรณพิลาศเดินนำหน้าไป ทิ้งให้เขาคนเดิมเป็นผู้เข็นกระเป๋าไปที่จอดรถ ชายหนุ่มทำได้แค่โคลงศีรษะแล้วเข็นกระเป๋าตามอย่างคนรู้หน้าที่

 

ณิรชาลงจากรถมายืนมองไปรอบๆ กาย อาคารตึกสูง ดูจากเค้าโครงแล้ว ทั้งรูปแบบระเบียงที่หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาก็พอบอกได้ว่าสถานที่แห่งนี้ผ่านการออกแบบมาอย่างดี รอบๆ พื้นที่ของตึกสูงมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ไม่นับสระว่ายน้ำขนาดใหญ่

“นี่น่ะหรือ คอนโดฯ ใหม่ ดูหรูเหมือนกันนะ”

“ก็นายรบน่ะอยากมีที่ส่วนตัวเอาไว้รับรองเพื่อน”

“โธ่เอ๊ย! รบ ที่บ้านก็ออกจะกว้าง จะปลูกอีกกี่ตึกก็ได้” ณิรชารู้จักบ้านของพรรณพิลาศและบ้านของพันรบดีเท่าๆ กับบ้านของตัวเอง เรียกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว เพราะเติบโตมาอย่างคนบ้านรั้วติดกันมาตั้งแต่เด็ก

“ก็นั่นน่ะสิ ตอนนี้ถึงว่าชักจะคิดผิด เพราะที่บ้านก็มีกันอยู่แค่นั้น แล้วต้องมาดูแลบ้านให้คนอื่นอีก” พันรบได้ช่องเปิดปากบ่นบ้างหลังจากที่หาโอกาสแทบไม่ได้ ผู้หญิงสองคนเวลาคุยกันนี่ก็คุยกันได้สารพัด ได้ทุกเรื่อง ชายหนุ่มจึงเป็นแค่ผู้ขับรถและผู้ฟังที่ดี

เพราะนอกจากลูกชายคนเดียวอย่างเขาต้องดูแลบ้านใหญ่ของพ่อแม่แล้ว ชายหนุ่มยังต้องแถมพ่วงด้วยบ้านใหญ่ของเพื่อนสาวที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กอย่างณิรชาอีก ท้ายที่สุดเลยพบว่าตัวเองแทบไม่มีโอกาสได้มาอยู่คอนโดฯ ที่ซื้อเก็บเอาไว้เป็นที่สนุกสนานส่วนตัวอย่างที่ตั้งใจไว้ นี่คิดว่าคงต้องได้เวลาประกาศขายเสียที

เหมือนรู้ตัวว่าบ้านคนอื่นที่เขาพูดถึงนั้นหมายถึงบ้านใคร มือเล็กๆ จึงตบหลังของเขาเป็นการปลอบใจ

“อีกไม่นานก็ไม่ต้องแล้ว ในเมื่อฉันจะมาอยู่แล้วนี่นา นี่แน่ะ…มีของฝากจากเปรูมาให้ด้วยนา ไม่ให้เหนื่อยฟรีหรอก”

คนถูกปลอบทำหน้ายุ่งๆ สบตากับพี่สาวที่โคลงศีรษะอยู่ก่อนแล้ว เรื่องแฉลบออกนอกเส้นทางนี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำของเจ้าตัว หากที่สำคัญ

“แอบไปตอนไหน!” สองคนพี่น้องเสียงเขียว

“ไปแป๊บเดียวเอง นี่ไง… เก๊าะ! กลับมาบ้านแล้ว” ณิรชาเหมือนรู้ตัวแต่เสแสร้งทำหน้าตาเฉย

เห็นใจอยู่หรอก ที่จู่ๆ เพื่อนรักทั้งสองก็ได้รับโทรศัพท์ข้ามทวีปว่าจะมาถึงเร็วกว่ากำหนดที่ตั้งเอาไว้คนละเรื่องทีเดียว ตอนนี้จึงต้องมาขออาศัยอยู่คอนโดฯ ของพันรบก่อนเพราะบ้านต้องมีการซ่อมแซมและปรับปรุงให้อยู่สบายกว่าเดิม ยังไม่เรียบร้อยดี

อย่างที่บอก ณิรชาไม่เคยมีแผน โดยเฉพาะเมื่อยามบอกเสียงอ่อย “อยากกลับมาอยู่เมืองไทย คิดถึงอะไรก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก” น้ำเสียงเศร้าและเหงานั้นทำให้ไม่มีใครกล้าตำหนิอะไร

คนที่มีพร้อมทุกอย่างอย่างนี้บางอย่างก็มีเรื่องในใจที่อธิบายไม่ได้อยู่เหมือนกัน

“ไปอยู่ที่บ้านไม่ดีกว่าหรือ พวกฉันไม่ได้มาดูแลทุกวันนะ คุณพ่อคุณแม่ท่านก็บ่นน้อยใจว่าทำเป็นคนอื่นคนไกล”

“ยังก่อนได้ไหม อยากเปลี่ยนบรรยากาศ” คนถูกถามตอบสั้นๆ อย่างรู้กัน พวกนักเขียนก็เป็นอย่างนี้มาตลอด เอาแน่เอานอนไม่ได้

“แล้วตกลงจะมาอยู่เลยจริงๆ หรือ เมืองไทยนะ เดินทางไปๆ มาๆ ก็สนุกดี แต่จะอยู่จริงๆ ได้ไม่ง่ายหรอกนะ สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยอย่างหล่อน” พรรณพิลาศถามแบบไม่ค่อยเชื่อถือสักเท่าไหร่

“ก็…คิดว่าอย่างนั้น ฉันเป็นคนไทย โตเมืองไทย ถึงอย่างไรที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดเมืองนอนนะ” ด้วยชีวิตที่ต้องเดินทางไปเติบโตอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยากที่คนจะเชื่อว่าณิรชาจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนไทยและอยู่คนเดียวได้

“แล้วคุณพ่อคุณแม่ล่ะ…”

“ไม่รู้สิ” คนตอบตอบพลางยักไหล่อย่างขอไปที

“ก็คงไม่อยากให้มาหรอก แต่ไม่มีเวลามานั่งถกเถียงกัน พ่ออยู่รัฐหนึ่ง แม่อยู่รัฐหนึ่ง ต่างคนต่างมีครอบครัวของตัวเองกับธุรกิจ แค่นั้นก็เหนื่อยแล้ว”

“ตกใจกันหมดทั้งบ้าน ตอนณิบอกว่าจะกลับมาอยู่เลย มีอะไรหรือเปล่า” พันรบเปรยออกมา เป็นที่ทราบว่าถ้าพูดกันเรื่องความสนิทสนมแล้ว ณิรชาค่อนข้างจะกลมกลืนเป็นครอบครัวเดียวกับเขาเสียมากกว่า เพราะต่างฝ่ายต่างขยันไปมาหาสู่ข้ามประเทศกันเสมอจนแทบไม่มีความห่างของระยะทาง ดังนั้นจึงไม่มีใครเตรียมอะไรได้ทันเมื่อจู่ๆ ก็มีโทรศัพท์มาบอกว่าจะกลับมาอยู่ประเทศไทย

“ไม่รู้สิ รู้แต่ว่าจู่ๆ ก็รู้สึกว่าอยากกลับบ้าน รู้สึกว่าถึงเวลา… บอกไม่ถูก เหมือนต้องมาทำอะไรสักอย่าง พรรณ…รบ… ความรู้สึกนี้มันอธิบายไม่ได้ พูดไม่ออก เลยไม่ได้บอกทางโทรศัพท์”

พรรณพิลาศดูจะเข้าใจดีกว่าพันรบ เพราะในบางครั้ง นอนหลับอยู่ดีๆ แท้ๆ ณิรชาก็ตื่นขึ้นมานั่งร้องไห้บ่นคิดถึงบ้าน บ้าน…ซึ่งเจ้าตัวเองก็บอกไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด เพราะไม่ว่าจะอยู่อเมริกา ยุโรป หรือประเทศไทย ณิรชาก็เป็นเช่นนั้นเสมอ หลายๆ ครั้งก็พอสรุปได้ว่าพวกที่มีอารมณ์ศิลปะย่อมมีความอ่อนไหวเป็นธรรมดา แต่บางครั้งบางเรื่องคนตัวบางก็แข็งแกร่งเกินคาดคิดเช่นกัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งพรรณพิลาศและพันรบต่างก็เห็นพ้องต้องกัน

“ดีแล้วที่กลับมา ณิ…อาจไม่เหมาะที่จะอยู่ที่อื่นหรอก”

 

คืนแรกของประเทศไทย ทั้งพรรณพิลาศและพันรบต่างพักอยู่ด้วยเป็นเพื่อน ซึ่งเป็นเช่นนั้นเสมอไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ณิรชาอ่อนวัยกว่าพวกเขา จึงเปรียบเสมือนน้องคนสุดท้อง เรื่องราวเกือบทุกอย่างจะรับรู้ด้วยกันตลอดหากไม่เคยเซ้าซี้หรือบีบบังคับใดๆ พวกเขาเต็มใจทำทุกอย่างให้เสมอ อาจจะด้วยเพราะความรักและเอ็นดูที่มีมาแต่เด็กก็เป็นได้ เพราะยามดีๆ แล้ว ณิรชาก็มีวิธีทำให้คนใจอ่อนได้ง่ายๆ

หญิงสาวตื่นขึ้นมาตอนเช้า ออกมาสูดอากาศยังระเบียงที่หันออกไปหาแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นเรือกำลังขึ้นและล่อง ทั้งเรือโดยสารและเรือสินค้าปะปนกับความวุ่นวายอยู่ด้านล่าง ยามเผลอไผลเจ้าตัวจะลูบปานสีน้ำตาลอ่อนที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ลักษณะที่ปรากฏเป็นแนวแคบยาวอยู่บนท้องแขน ซึ่งตากับยายเคยบอก

‘คนโบราณเขาทำเครื่องหมายเอาไว้’

หล่อนถอนหายใจยาว คิดถึงพวกท่านเหลือเกิน แม้พวกท่านจะสิ้นไปแล้วทั้งหมด ทราบดีแก่ใจ สิ่งที่ทำให้ไม่หลงใหลไปกับอารยธรรมต่างชาติทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตตามลำพังมาโดยตลอด ส่วนใหญ่เพราะรากฐานที่แข็งแกร่งมาจากพวกท่าน

พันรบงัวเงียออกมาจากห้องของตัวเอง “อรุณสวัสดิ์” ชายหนุ่มทัก

“อรุณสวัสดิ์พ่อนักรบ หนังสือของฉันล่ะ” หล่อนกระโดดโหยงเหยง แบมือทวงของที่ขอให้พันรบไปขนมาจากบ้านที่กำลังซ่อมแซม ซึ่งชายหนุ่มก็เอามายื่นให้แต่โดยดี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุดหายากที่ชายหนุ่มต้องเพียรหาและเก็บไว้ให้ทุกคราวที่มีโอกาส

“คราวนี้จะเขียนเรื่องประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา” ไม่มีใครเชื่อว่าคนที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์บ้านเกิดแบบรุ่งริ่งอย่างหล่อนจะมาจริงจังเอาตอนนี้ “ฉันรับงานเอาไว้ เขาอยากให้ลองเขียนดู” เจ้าตัวเคยบอกล่วงหน้าเอาไว้ พร้อมกับเคี่ยวเข็ญให้คนที่อยู่เมืองไทยพยายามรวบรวมข้อมูลให้

“แล้วระหว่างนี้จะไปไหนบ้าง” พันรบถามสั้นๆ อย่างทหาร

“ไปกราบสวัสดีพ่อแม่ของพวกเธอก่อนสิ…ไม่อย่างนั้นท่านต้องงอนแน่ๆ” หญิงสาวทำท่าครุ่นคิดราวกับว่ายังไม่ได้วางแผนอะไรเอาไว้เลย ในยุคสมัยของพวกหล่อน ณิรชายังมีความเป็นไทยอยู่มากในหลายๆ เรื่อง หล่อนซึมซับและรักษาสิ่งเหล่านั้นเอาไว้มากกว่าคนไทยหลายๆ คนที่อยู่กับความเป็นไทยมาตลอดชีวิตเสียด้วยซ้ำ

“แล้ว…ไปหา บ.ก. ที่ส่งงานให้ จากนั้น…ก็อาจไปหอสมุดแห่งชาติ เตรียมเขียนเรื่องใหม่ แล้วก็แปลหนังสือ เห็นไหม แค่นี้ก็ยุ่งแล้ว ยายพรรณลางานวันเดียวก็พอ พรุ่งนี้ก็ไปทำงานเถอะ เดี๋ยวเจ้านายจะว่าเอา”

“พี่พรรณน่ะ เขาเป็นเจ้านายของเจ้านายนะ อย่าลืมสิ” พันรบล้อเลียนพี่สาวเป็นอันเข้าใจ เพราะจริงอย่างที่เขาว่า จะมีข่าวดีเร็วๆ นี้

พี่สาวออกมาจากห้องทันได้ยินจึงค้อนวงใหญ่ “นายรบ ช่วงนี้ก็ยุ่งไม่ใช่หรือ ต้องไปสัมมนาร่วมกับหน่วยพิเศษโครงการสมบัติชาตินี่”

“พอปลีกตัวได้หรอกพี่พรรณ ตอนนี้โครงการเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว”

ณิรชาเลิกคิ้ว เพราะไม่เคยได้ยินเพื่อนชายส่งข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน

“ตอนนี้เขามีเพื่อนซี้คนใหม่น่ะ ถูกส่งไปช่วยราชการเหมือนกัน” พรรณพิลาศเล่าให้ฟังพลางขยายความว่าพันรบถูกส่งเข้าโครงการพิเศษ ในการบูรณะโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ นี่คงเป็นเพราะความชอบส่วนตัวของชายหนุ่มด้วยที่ทำให้ต้นสังกัดมอบหมายงานให้

“น้ำท่วม โบราณสถานพังไปหลายแห่ง ที่ต้องบูรณะก็ไม่ใช่น้อย ของเก่าก็หายเยอะด้วย” ชายหนุ่มบ่นเบาๆ มีรอยหนักใจบ้าง “แต่ดีที่ช่วงหลังตามเก็บคืนมาได้บ้าง มีเพื่อนร่วมทีมเก่งๆ มาเสริมด้วย”

“มีไม่กี่คนหรอกนะที่รบเค้าจะนับถือเป็นพิเศษ” พรรณพิลาศช่วยเสริมเมื่อคนฟังเลิกคิ้วยามที่ได้ยินเพื่อนชายเอ่ยถึงคนอื่นด้วยน้ำเสียงที่ให้การยอมรับ

พันรบหัวเราะในลำคอ เพราะเป็นเรื่องจริงที่พี่สาวบอก เขาเป็นคนหยิ่งและทะนงตัวพอสมควร “คุยกันถูกคอน่ะ ถ้านับแล้วก็ต้องถือว่าเป็นรุ่นพี่ ต้องให้เกียรติกัน”

“แล้วณิล่ะ ไม่ลองไปสมัครเป็นอาจารย์ดูหรือ เรียนมาก็ตั้งหลายปริญญา คุณพ่อรู้จักเจ้าของมหาวิทยาลัย คุยกันได้” พรรณพิลาศเสนอ เหมือนกับที่เคยเสนอแนะมาหลายครั้ง

“ดูก่อน…” คำตอบก็เป็นอย่างที่ตอบมาหลายครั้งเช่นกัน

“ยังไม่พร้อมที่จะสอนใคร แล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสอนได้ คนที่เป็นครู…ต้องอยู่กับที่ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ฉันยังอยู่เฉยๆ หรือทำอะไรอย่างเดียวไม่เป็น อีกอย่าง รู้นั่นนิด รู้นี่หน่อย ปนเป็นขยะอยู่ในนี้ ยังไม่ได้เอามาประกอบเลย”

ณิรชาจิ้มขมับของตัวเอง รู้ตัวดีอยู่หรอก ตลอดชีวิตไม่เคยทำอะไรหรือมีอะไรอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ใบปริญญา บ้าน หรือครอบครัว ทุกอย่างมีมากกว่าหนึ่ง และไม่เคยมีอะไรดีเลิศสักอย่าง เป็นอิสระและมีข้อยืดหยุ่นเสมอ

ที่สำคัญ…หล่อนรักที่จะติดตามคนบางกลุ่มบางพวกไปตามที่ต่างๆ ตามแต่ที่ใจอยากจะไป

“เป็นคนขี้เบื่อนี่น่าสงสารนะ” พันรบส่ายหน้า เขาเองก็รู้จักเจ้าหล่อนดี ถึงได้ไม่เสียใจนักเวลาที่ถูกปฏิเสธความรักฉันหนุ่มสาว เพราะถ้าเกิดรักกันจริงๆ อาจจะไปไม่รอดก็ได้

ลึกๆ นั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งก็คือพันรบรู้ตัวว่ามีเส้นบางๆ อยู่เส้นหนึ่งที่ขวางเอาไว้ และเขายังไม่อาจก้าวข้ามไปได้ แต่ถึงอย่างไรความผูกพันในความเป็นเพื่อนที่โตมาด้วยกันตั้งแต่เล็กนั้นมีมากมายจนแม้กระทั่งเขาก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

“แล้วเรื่องที่จะไปอยุธยาล่ะ” พรรณพิลาศถามถึงเรื่องประจำ เมื่อไหร่ที่กลับมาประเทศไทย เพื่อนสาวคนสนิทจะต้องหาเวลาไปยังแหล่งเมืองเก่าไม่มีขาด

ณิรชายิ้มบางๆ เป็นอันรู้กันว่าเรื่องที่ถามต้องเกิดขึ้นแน่นอน

“ฉันกลับมาอยู่ที่นี่แล้วนี่นา ดังนั้นเราไม่ถึงกับต้องรีบมากหรอก เพราะฉันมีแผนจะทำอะไรอีกมากมายเกี่ยวกับที่นั่น ไม่แน่นะ…อาจจะไปเช่าบ้านที่อยุธยาสักพัก และอยู่ที่นั่นจนทำหนังสือที่รับมาเสร็จเรียบร้อยนั่นแหละ คราวนี้อาจจะต้องไปอยู่นานหน่อย แต่ให้อะไรๆ มันอยู่ตัวก่อนก็ได้”

“จะทำถึงขนาดนั้นเชียวหรือ… แต่…ก็ตามใจนะ อยากให้ทำอะไรก็บอก” ประโยคปิดท้ายประจำ

“แต่ว่า…ถ้าณิอยากจะหาข้อมูลของเรื่องโบราณจริงๆ ที่อยุธยาไม่ค่อยมีอะไรเหลือแล้วนะ ของโบราณที่นั่นถูกขนย้ายกระจัดกระจาย ยิ่งน้ำท่วมคราวที่แล้วยิ่งแล้วใหญ่ อะไรๆ ก็ไม่น่าดูนักหรอก แล้วก็ไม่เหมือนครั้งล่าสุดที่เราไปด้วย” ช่วงนี้พันรบต้องไปอยุธยาบ่อยพอสมควร แม้สิ่งที่เห็นและรับรู้จะทำให้เศร้าเสียใจ แต่เขาก็ตั้งใจพยายามรักษาสมบัติชาติให้ได้มากที่สุด

“แหม…กลับมาคราวนี้รู้สึกว่ารบรู้เรื่องเยอะจัง”

“รุ่นพี่คนนั้นของผมเค้าบอก ตอนนี้ทางตำรวจขอยืมตัวไปช่วยเรื่องของโบราณหาย จำเพาะว่าพี่คนนี้เขาต้องตามสืบได้ทุกทีสิน่า” ปลายประโยคมีแววชื่นชม

“อย่างนั้นหรือ…เขาคงมีอะไรพิเศษอยู่กระมัง ว่าแต่เขาเป็นคนอยุธยาด้วยไหม” ณิรชาถามอย่างกระตือรือร้น เผื่อว่าจะมีข้อมูลอะไรใหม่ๆ

“เปล่า! ครอบครัวเขาอยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ แต่เขาต้องไปประจำอยู่ที่นั่นบ้างเท่านั้น” คำตอบของพันรบทำให้หญิงสาวทำหน้าผิดหวัง หล่อนมักใส่ใจเสมอเวลามีคนหรือสิ่งของที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องราวโบราณได้

“เอาน่า แต่ดูท่าเขาทราบเรื่องอยุธยาดีอยู่มากทีเดียว วันหลังจะแนะนำให้รู้จัก น่าจะพอแนะนำแหล่งข้อมูลต่อๆ ไปได้ เขากว้างขวางนะ วันก่อนจับพวกแอบขุดกรุ ข่าวว่าได้ของคืนมาทุกชิ้น ถามว่าทำอย่างไรกลับไม่ยอมบอกเสียนี่”

พันรบปลอบใจ ที่จริงเขากับพรรณพิลาศก็มีนิสัยคล้ายกับณิรชา จะมีความผูกพันเป็นพิเศษกับเมืองเก่าแห่งนี้ เมื่อใครสักคนหนึ่งชวน คนที่เหลือก็จะตกลงไปอยุธยาโดยไม่อิดออด หากสองคนพี่น้องอาจจะดูไม่จริงจังเท่าณิรชาเท่านั้น

ผู้ใหญ่หลายท่านเคยบอกว่าพรรณพิลาศ พันรบและณิรชาอาจเคยผูกพันกันมาจากในอดีต ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนสมัยใหม่และมีการศึกษาจากต่างประเทศอย่างพวกเขายากที่จะเชื่อได้อย่างจริงจัง และสำหรับคนอื่นคงเป็นเรื่องแปลกถ้าจะมีคนเห็นณิรชาของพวกเขาลูบคลำของโบราณบางชิ้นแล้วร้องไห้ หรือไปนั่งอยู่ตามสถานที่โบราณต่างๆ …นั่งเงียบๆ โดยไม่พูดอะไรนานสองนาน แต่สำหรับพวกเขา…เป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นจนชิน

 

ณิรชาลัดเลาะไปตามแนวไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่เต็มอาณาเขตของบ้าน ได้ยินเสียงก่อสร้างดังอยู่แว่วๆ ข้ามเขตรั้วนี้ไปก็เป็นบ้านของหล่อน แต่ตอนนี้ต้องมาอยู่ที่บ้านของพรรณพิลาศก่อนตามบัญชาของท่านประมุข ‘นายพลใหญ่แห่งกองทัพบก’

“ให้กลับเข้ามาอยู่บ้านให้หมดทุกคน!” คำสั่งที่หามีใครกล้าขัดไม่ พวกหล่อนเคยโดนท่านทำโทษมาแล้วตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครได้รับการยกเว้น

หญิงสาวไม่ได้ข้ามประตูที่มีอยู่ข้างรั้วไปบ้านของตัวเองเพราะโดนห้ามเอาไว้ไม่ให้ไปเพียงลำพัง ได้ยินเปรยๆ ว่าอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ด้วยซ้ำ ที่จริงบ้านก็หลังใหญ่เสียด้วยสิ คนเก่าคนแก่ล้วนล้มหายตายจากไปเกือบหมด ที่สำคัญ…ค่าครองชีพในปัจจุบันอาจก่อให้เกิดภาระหนักพอสมควรทีเดียว

ณิรชามองหาพันรบที่คนในบ้านบอกว่ากลับมาแล้ว พอทราบหรอกว่าเขาอยู่ที่ไหน สถานที่เล่นตั้งแต่วัยเยาว์ยังคงถูกใช้งานตลอดเวลา

“รบ!” หล่อนหยั่งเสียง แต่เสียงเรียกคงเบาไปฝ่ายนั้นคงไม่ได้ยิน หรือ…ไม่อย่างนั้นก็แกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน หญิงสาวจึงเปลี่ยนไปเป็นตะโกน

“ไอ้โร้บ” พ้องเสียงที่แปลว่าเชือก

คนที่แสร้งนอนบนเปลญวนต้องรีบลืมตาขึ้นมา เห็นคนคุ้นตาคุ้นใจเดินมาใกล้

“หนีทหารไม่ดีนะ” หญิงสาวนั่งขัดสมาธิลงบนเสื่อ

“ไม่ได้หนี แต่ประชุมเสร็จเร็วต่างหาก” เขาหัวเราะร่วน ร่างสูงเพรียวเลื่อนตัวไปนั่งบนเสื่อตามคนมาใหม่

“แล้วณิไปเที่ยวไหนมาล่ะ อุตส่าห์เลิกงานมาแต่บ่าย คนในบ้านบอกว่าออกไปแต่เช้า”

“ไปรายงานตัวกับ บ.ก. บอกกล่าวว่าจะมาอยู่เมืองไทยสักพัก แล้วไปตกลงกับเขาว่าจะร่ายหนังสือออกมาสักเล่มที่เกี่ยวกับอยุธยา แต่ธีมจะเป็นแบบไหนก็จะมาว่ากันอีกที เขาอยากให้เป็นนิยายกึ่งสารคดี สองภาษา”

“ทำไมต้อง…อยุธยา”

“ไม่รู้สิ…บ.ก. เค้าคิดขึ้นมาเอง เราแค่สนองตอบ คงเห็นว่าเราไปเที่ยวมาหลายที่ เรื่องแหล่งอารยธรรมเก่าๆ อย่าง ไทกริส ยูเฟรติส เมโสโปเตเมีย รึ…อียิปต์ก็เขียนส่งมาให้เค้าหลายเรื่องแล้ว แต่ยังไม่เคยเขียนอะไรที่เกี่ยวกับบ้านเกิดเลยกระมัง ถ้าอยู่นานไปอีกหน่อยก็อาจจะเป็นสุโขทัย บ้านเชียง…แหม…ยิ่งพูดก็ยิ่งเริ่มอยากรู้เรื่องสยามประเทศขึ้นมาแล้วนี่” คนพูดยักไหล่พลางก้มมองดูหนังสือที่วางอยู่ข้างตัวของชายหนุ่ม

“ว่าแต่ อะไรนี่ อ่านหนังสือพวกนี้ด้วยหรือ… ขอดูหน่อยนะ ‘ไทม์ไลน์’ แหม…ดูเป็นวิทยาศาสตร์จัง” ชื่อของหนังสือสะดุดตาจนต้องถือวิสาสะหยิบขึ้นมาดู

“อ้อ… วันก่อนไปประชุมแล้วหยิบติดมือมา ณิจะเอาไปอ่านก็ได้นะ กว่าจะเอาไปคืนเจ้าของคงอีกสักพัก”

ณิรชายิ้มน้อยๆ สะกิดใจเล็กๆ เพราะแน่ใจว่า ‘เจ้าของ’ คงเป็นรุ่นพี่ที่เคยได้ฟังมา หญิงสาวหยิบหนังสือมาพลิกดู ตัวอักษรและเนื้อหาเป็นลักษณะของบทความไม่ใช่นวนิยาย ซึ่งไม่แปลกเพราะพันรบไม่ชอบอ่านนวนิยายอยู่แล้ว หนังสือเขียนโดย ‘ด็อกเตอร์ภากร รังคชล’

ชื่อ…ผู้เขียนบนหน้าแรกก็ยังไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าอยากอ่านต่อสักนิด

“สนุกตรงไหนกัน” หล่อนพลิกไปมา หากก็คล้ายยังไม่อาจตัดใจวาง

“ไม่สนุกหรอก แต่น่าสนใจตรงที่คนเขียนคนนี้เป็นนักฟิสิกส์ และเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ของโบราณอยู่แถวๆ อยุธยาหรืออ่างทองนี่แหละ ที่สำคัญของโบราณของเขาเคยหายไปแต่ก็ถูกเอากลับมาคืนได้เพราะคนที่ขโมยคนหนึ่งเป็นบ้า อีกคนล้มป่วยปางตาย เรื่องเลยเป็นข่าวพักใหญ่ มีคนไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ด้วย ตอนนี้อะไรๆ ที่เป็นชื่อของด็อกเตอร์ภากรดูน่าสนใจไปหมด”

“อย่างนี้ก็ค่อยน่าสนใจหน่อย” ตาใสเป็นประกายวาว “สงสัยต้องลองไปขุดกรุสักที เผื่อดัง” เรื่องสนุกผุดขึ้นมาในสมองอีกแล้ว ขุดพีระมิดก็ขุดมาแล้วนี่นา ทำไมจะริขุดกรุไม่ได้!

“ขอร้องเถอะนะ! อย่าต้องให้ลำบากเท่ากับคราวที่หล่อนไปขุดมัมมี่ จนต้องไปตามหากันกลางทะเลทรายในอียิปต์เลย” ชายหนุ่มบอกแบบปลงๆ ยังจำได้ว่าเมื่อปีก่อน เขาต้องไปตามตัวณิรชาออกมาจากข้างพีระมิดกลางทะเลทราย

สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นโดยมีนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งตกค้าง และหนึ่งในนั้นก็คือเจ้าหล่อนผู้ซึ่งไม่มีวุฒิใดๆ ที่เกี่ยวกับโบราณคดีอยู่แม้แต่น้อย ร้อนถึงพันรบที่ต้องทำทุกวิถีทางนำณิรชาออกมาจากประเทศนั้นให้ได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอเพราะเพื่อนสาวของเขามีสายสัมพันธ์กับพวกนักโบราณคดีไร้สังกัด เมื่อมีเรื่องน่าสนใจ เจ้าหล่อนจึงไม่ลังเลที่จะแพ็กกระเป๋าไปร่วมอยู่ในขบวน

“แหม…ขอโทษ จะไม่ทำอย่างนั้นอีกแล้ว” ณิรชาเสียงอ่อน รู้ตัวดีว่าไม่เคยหยุดสร้างความวุ่นวายให้พรรคพวก แต่ก็เถอะ ถึงตาพวกเขาหล่อนก็ไม่เคยทิ้งนี่นา เพียงแต่…ความถี่ในการสร้างเรื่องวุ่นๆ มันต่างกันหลายขุมเท่านั้นเอง

“คุณพ่อเปรยมาว่า อยากให้ผมกับณิ…แต่งงานกัน…จะดีไหม ณิจะได้เป็นลูกสาวของท่านเต็มตัวเสียที” ชายหนุ่มเล่าเรื่อยๆ ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเช่นกัน

“แล้วรบคิดว่าอย่างไร” คนถามกลับดูจะไม่สะทกสะท้านหรือเขินอายใดๆ

“เราต่างรู้คำตอบไม่ใช่หรือ ต่อให้อยากแต่งก็เถอะ ณิจะยอมหรือ… แล้วแต่ณิก็แล้วกัน จะว่าไปเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว ขี้เกียจตีกัน ถึงอย่างไรผมก็แพ้อยู่ดี เหนื่อยตาย” ชายหนุ่มเอนกายลงนอนหนุนแขนตัวเอง เรื่องแบบนี้คุยกันมานาน คุยตลอด แต่ไม่เคยจบ

“พ่อนักรบ…แพ้ เฉพาะเราเท่านั้น เรารู้ดี” หญิงสาวทอดตามองคนที่หล่อนถือเป็นเพื่อน เป็นพี่ และแทบจะเป็นชีวิตเดียวกันด้วยความซาบซึ้ง เขาหาทางออกให้ตลอดมา

“คุณสมบัติอย่างนายพันรบหาไม่ง่ายหรอกนะ ทั้งหล่อ ทั้งดี ทั้งยศตำแหน่ง ไหนจะฐานะครอบครัว ผู้หญิงดีๆ ที่งามพร้อมทุกอย่างต้องมีให้ถูกใจบ้างล่ะ”

ที่แน่ๆ เขาไม่ใช่ชายหนุ่มเจ้าสำราญที่หว่านเสน่ห์ไปทั่ว

“คงยังไม่ถึงเวลาสำหรับผมก็ได้” ชายหนุ่มบอกปลงๆ ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะทราบถึงความสำคัญของตัวเองดี เมื่อไหร่ที่เดือดร้อน เขาเป็นคนในอันดับต้นๆ ที่เจ้าหล่อนจะเรียกหา

“แล้วจะให้เวลามาถึงเมื่อไหร่ พูดอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว”

“ไม่รู้สิ ภารกิจอาจจะยังไม่เสร็จสิ้น” ไม่มีใครทราบ อาจมีคำสาบานทับรอย

ร่างสมชายชาติทหารผุดลุกขึ้นนั่ง โน้มตัวมาหาอย่างจริงจัง “และ…จนกว่ารบจะแน่ใจว่าณิและพี่พรรณมีความสุข”

“ตอนนี้เราก็มี” หล่อนท้วงอย่างเห็นขัน แต่อีกฝ่ายกลับไม่ค่อยเชื่อถือ

“จริงหรือ…” พันรบเลิกคิ้ว จ้องลึกไปในดวงตาสีเข้มด้วยแววรู้ทัน

“ไอ้ชีวิต… ‘โหรงเหรง’ แบบนี้…” ชายหนุ่มใช้คำพูดได้สะดุดใจนัก

จริงสิชีวิตที่โหรงเหรงนั้นเหมาะกับณิรชายิ่งนัก

หญิงสาวจึงยักไหล่ “ก็…มันเป็นแบบนี้” จะไม่ยอมรับก็คงไม่ได้ ไม่มีใครรู้จักหล่อนได้ดีเท่าพรรณพิลาศและคนตรงหน้านี้อีกแล้ว

“เอาเถอะ จนกว่าผมจะแน่ใจว่าณิกับพี่พรรณมีความสุข” เขาจึงตอบย้ำ “เมื่อนั้น…อาจจะถึงเวลา”

ณิรชาหัวเราะถูกใจ พันรบมักจบอย่างจริงจังอย่างนี้เสมอ แล้วเมื่อไหร่กันล่ะ หล่อนก็ยังสบายมีความสุขดีอยู่นี่นา

 

ณิรชาขับรถไปตามเส้นทางสายเก่า ที่จริงหล่อนอาจจะรู้จักเส้นทางนี้มากกว่าและมาบ่อยกว่าคนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ประเทศไทยก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตาม ถนนที่ขับรถผ่านแปลกตามากขึ้นทุกครั้งที่มา จากพื้นที่ว่างเป็นทุ่งนา สวน หรือบ้านที่ยกพื้นสูงมีหลังคาหน้าจั่วแบบเก่าก็เปลี่ยนไปเป็นบ้านหลังสวย ทุ่งนาโล่งๆ หายไปแล้วมีตึกแถวทันสมัยมาแทนที่อย่างรวดเร็ว ภาพเก่าๆ ที่เคยเห็นฉายซ้ำอยู่ในความทรงจำเลือนหาย การเปลี่ยนแปลงมีมาเป็นลำดับตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไป

หญิงสาวพยายามจะไม่คิดมาก

ก็ในเมื่อหล่อนเองยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุด แล้วจะให้โลกทั้งโลกหยุดเพื่อความพึงพอใจของตนเองได้อย่างไร

หล่อนแวะตามวัดระหว่างทาง ส่วนใหญ่จะมีผู้คนมาสักการะมากพอสมควร บางวัดเรียกได้ว่าค่อนข้างแออัดและทำกิจกรรมบางอย่างที่เรียกกันว่าเป็น ‘พุทธพาณิชย์’ ครั้งหลังสุดที่มา ณิรชายอมล่าถอยออกจากผู้คนแล้วเลือกที่จะกราบพระอยู่ข้างนอกอุโบสถแทนการไปเบียดเสียดกับคนที่ถวายผ้าห่มองค์พระใหญ่ด้วยพิธีแปลกๆ มาคราวนี้ถึงไม่อยากเข้าไปแถวนั้น

“อย่างนี้ก็มีด้วย” ความเสียดายนั้นเข้ามาชนในอกทุกครั้งที่เห็น แต่…บอกไม่ได้ว่าเสียดายอะไร

หล่อนสลัดความคิดแล้วขับรถข้ามสะพานเข้าตัวเมืองอยุธยา แวะไหว้พระตามวัดที่ห่างชุมชนสักหน่อย และขับรถไปตามถนนต่างๆ นี่ถ้าใครทราบก็คงนั่งหัวเราะแน่ ณิรชาชอบทำอย่างนี้เสมอ เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม เป้าหมายของหญิงสาวคือพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองและโบราณสถาน สิ่งที่สนใจไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นความสนใจในศิลปะต่างหาก ทว่าที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะแบบไหนก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ

“หล่อนจะส่องดูอะไรนักหนา ของเก่าจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้” พรรณพิลาศเคยยืนรอณิรชาพิจารณาและพูดคุยกับพ่อค้าขายของเก่าที่วางของแบกะดินเพื่อซื้อของชิ้นเล็กๆ เพราะติดใจในลวดลายและรูปแบบแปลกตา

หากคราวนี้ไม่เหมือนกัน ณิรชามีโครงการพิเศษ หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของที่นี่ในมุมของคนไทยน่าจะพอทำประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่พอเริ่มต้นหญิงสาวก็พบกับเรื่องคาใจอยู่มากมายตั้งแต่เริ่มอ่านพงศาวดารและหนังสืออ้างอิงต่างๆ เลยทีเดียว

“ไม่เห็นตรงกันเลย!” เมื่อวันก่อนหล่อนบ่นกับพรรณพิลาศและพันรบเมื่อปักหลักนั่งอ่านข้อมูลที่รวบรวมมา

“ข้อมูล ปี สถานที่…ไม่ตรงกัน เล่มนี้ว่าอย่าง เล่มนั้นก็ว่าอีกอย่าง” หญิงสาวทำหน้ายุ่งกับหนังสือและกระดาษสำเนาที่กางเต็มโต๊ะ ส่วนหนึ่งเป็นของเก่าที่บรรพบุรุษเก็บเอาไว้ เอกสารมากมายอ่านไม่หมด

“นี่ แค่เขียนนิยายไม่ใช่หรือ ทำไมจริงจังนักเล่า” พรรณพิลาศเงยหน้าจากนิตยสาร พวกเขาอยู่เป็นเพื่อนเฝ้ามาตลอด

“จะว่าไป คราวนี้ดูจริงจังเป็นพิเศษนะพี่พรรณ” พันรบมองอย่างเห็นใจ เพราะเห็นขลุกอยู่แต่ในห้องมาพักหนึ่งแล้วกระมัง เขาเองก็มีส่วนที่ขนหนังสือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องมาวางกองไว้ให้ จะว่าไปชายหนุ่มถือว่าตัวเองเป็นทหารที่มีความรู้ในประวัติศาสตร์พอสมควร

“ฉันแค่ไม่อยากเขียนอะไรมั่วๆ ลงไป เพราะส่วนหนึ่งเป็นสารคดี มันควรจะมีอะไรที่ยืนยันกันได้บ้างว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้อง”

“แต่อย่าลืมนะว่าช่วงนั้นหนังสือของเราถูกทำลาย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอเชื่อถือได้ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ ที่เป็นภาษาไทยก็เขียนโดยคนในยุครัตนโกสินทร์ แล้วยังมีนักวิชาการมาชำระแยกย่อยไม่รู้อีกตั้งกี่ครั้ง”

“มันก็ใช่ แต่ว่าเราก็มีหลักฐานทางสถานที่หรือวัตถุเหลืออยู่นี่ น่าจะมีสักเล่มหนึ่งที่แม่นๆ หรือไม่อย่างนั้นก็…พอจะมีเหตุผลมารองรับได้” ณิรชาบ่นพลางทิ้งตัวลงอย่างหมดแรง

“เฮ้อ…ศึกษามาทั้งโลก ยกเว้นบ้านเกิดของตัวเอง” นึกตำหนิตัวเอง

“เพิ่งรู้ตัวหรือ!” คราวนี้พี่น้องสองคนถามขึ้นมาพร้อมกัน

หล่อนเถียงไม่ออก หน้าจ๋อย ยอมรับกลายๆ

“ใช่สิ… เฮ้อ! คนเรานี่หนอ ที่ไหนว่าเก่าแก่ ที่ไหนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก อยู่ที่ไหนก็ดั้นด้นไป หินก้อนไหน ยุคไหนก็ศึกษาจนปรุ ตระเวนไปเสียทั่ว ต่อให้เสี่ยงก็ไป เห็นรูปวาดก็บอกได้ว่าเป็นยุคไหน ศิลปินคนใดวาด แต่พอเป็นบ้านเมืองตัวเอง อยู่ใกล้แค่นี้ ได้แต่เดินไปเดินมา ดูนั่นนิด ดูนี่หน่อย แล้วมัวแต่ปลื้มว่าประเทศของเรานี้หนาเป็นเจ้าของเมืองมรดกโลก แต่ที่จริงกลับไม่เคยแม้แต่จะหยิบอิฐสักก้อนขึ้นมาพิจารณา” รำพึงรำพันไปตามเรื่อง

หล่อนสามารถบอกได้ว่าพีระมิดสร้างมาด้วยหลักการอะไร อักษรเฮียโรกลิฟิกง่ายๆ เขียนอย่างไรก็เขียนไดอ่านออก แต่กลับบอกลึกซึ้งไม่ได้กับประวัติศาสตร์ชาติของตัวเองนอกจากความรู้เท่าที่เรียนจากโรงเรียน

“ทำเสียงน่าสงสารอีกแล้วนะ ยายณิ” พรรณพิลาศออกจะขำ พอๆ กับน้องชาย รู้ทางกันว่าถ้าเมื่อไหร่ทำหงอยอย่างนี้พวกหล่อนก็ต้องโดดเข้าไปยุ่ง

“จะให้ทำอะไรก็บอกมา” ทันทีที่พูดจบ คนที่เสแสร้งตีหน้าเศร้าน่าสงสารก็ยิ้มกว้างสมใจที่มีคนหลวมตัว

“พวกเธอก็คงต้อง…พาฉันกลับไปหยิบอิฐมาดูสักก้อนน่ะสิจ๊ะ!”

 

หนังสือที่กองอยู่ตรงเบาะข้างๆ เป็นคำตอบ ณิรชาขับรถมาอยุธยา เริ่มตระเวนไปตามวัดต่างๆ เพื่อปะติดปะต่อข้อมูลที่มีอยู่

ที่ผ่านมาทั้งพรรณพิลาศและพันรบต่างผลัดกันมาด้วยเสมอ แต่วันนี้หญิงสาวเลือกขับรถออกมาเองเพราะเกรงใจที่รบกวนพวกเขาตลอดเวลา นี่ก็กำลังวางแผนอยู่เหมือนกันว่าจะมาหาบ้านพักอยู่ที่นี่สักเดือนสองเดือน เพราะเพื่อนชาวต่างชาติคนหนึ่งเคยบอกไว้ว่ารู้จักกับศาสตราจารย์นักโบราณคดีชาวเยอรมันที่มาช่วยบูรณะวัดราชบูรณะ บางทีอาจจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจากพวกเขาก็ได้

ตอนขากลับ ณิรชาเลี้ยวขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำ หากไม่ได้ตรงเข้ากรุงเทพฯ หล่อนเบี่ยงเข้าถนนเล็กๆ ลัดเลาะไปตามทางที่ขนานไปกับแนวโค้งของแม่น้ำที่ล้อมรอบเกาะอยุธยา ลึกเข้าไปเป็นแถบบ้านไม้ที่ยังพอมองเห็นเค้าโครงเก่าๆ แตกต่างจากในตัวเมืองอย่างสิ้นเชิง

หญิงสาวเคยมาที่นี่ครั้งแรกกับพรรณพิลาศและพันรบเมื่อหลายปีก่อน เดิมพวกหล่อนหลงมาทางนี้แล้วมาเจอวัดเก่า ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะมีวัดใหม่แล้วยังมีสำนักปฏิบัติธรรมอยู่ในที่เดียวกัน ว่ากันว่าสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในอาณาเขตของวัดเก่าแก่ที่เพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่ได้จดทะเบียนบันทึกตามหลักฐานเสียด้วยซ้ำ

หญิงสาวจอดรถเลียบถนนก่อนจะยกมือไหว้เจดีย์เก่าที่ผุกร่อนเสียเกือบครึ่ง ฐานรากทรงระฆังคว่ำหายไปเป็นส่วนๆ ตามกาลเวลา ไม่ไกลกันนักยังพอมองเห็นซากโบสถ์เก่าที่ว่าเป็นของวัดเก่าอยู่ในแนวไม้รำไร

รีรอไม่กล้าเข้าไปคนเดียวเพราะกลัวสัตว์มีพิษจึงได้แต่ยืนมองอยู่ตรงอาณาบริเวณด้านนอก ก่อนตัดสินใจเข้าไปในสำนักสงฆ์ที่แบ่งส่วนของแม่ชีและสงฆ์ออกเป็นสัดส่วน วันนี้ดูผู้คนมากกว่าที่คิดทั้งที่ไม่ใช่วันหยุดหรือวันพิเศษอะไร และที่เห็นส่วนใหญ่คนที่มาที่นี่มักเดินมาและแต่งกายธรรมดา

หญิงสาวยิ้มรับหญิงวัยกลางคนที่ทักทายระหว่างทาง “มาทำบุญหรือลูก”

บุคลิกของณิรชาเป็นแบบเฉพาะตัวที่คนเห็นก็ทราบว่ามีความแตกต่าง ไม่ใช่คนในพื้นที่

“ค่ะ…” และคงเป็นเพราะหล่อนเดินโต๋เต๋หิ้วถังพลาสติกที่จัดเป็นเครื่องสังฆทานมาด้วย

“ไปกราบพระธุดงค์สิ ท่านมาจากไหนไม่รู้ มาปักกลดอยู่ตรงข้างโบสถ์เก่า ใครเอาของไปถวายท่านก็ไม่รับ ข้าวก็ฉันก่อนเพลมื้อเดียว แต่ถ้าเป็นสังฆทานนี่ก็ได้นะ ท่านรับแล้วเอาให้กับที่นี่”

หญิงสาวรับคำงงๆ จริงอยู่ ณิรชาอาจจะเข้าวัดบ่อย ทำบุญมาก แต่ที่ทำไปเพื่อทำนุบำรุงศาสนาและรักษาขนบธรรมเนียม รวมไปถึงการศึกษาศิลปะ แต่ไม่ได้มีความลึกซึ้งในพระธรรมหรือสนใจในปาฏิหาริย์ของพระองค์ใดเป็นพิเศษ

ณิรชาเข้าไปบริจาคเงินทำบุญเพราะเห็นว่าที่นี่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและมีกิจกรรมที่ไม่เป็นพุทธพาณิชย์เกินไปนัก พันรบเองก็เคยมาบวชและอยู่ที่นี่ เขาเลื่อมใสในพุทธศาสนา แต่ยังรักการทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติมากกว่า ซึ่งเป็นอาชีพที่เขารักและตั้งใจที่จะเป็นมาตั้งแต่เด็ก

หญิงสาวชะเง้อมองไปทางโบสถ์เก่าข้างเจดีย์ เมื่อครู่หล่อนไม่เห็น คงเพราะอยู่คนละด้าน ทางเดินไปยังกลดสีฝาดมีรอยถางเตียน และมีคนกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่ล้อมรอบ เลยถือโอกาสเดินเข้าไปบ้าง แปลกนักที่เหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่างทำให้ก้าวเท้าเข้าไปนั่งต่อจากกลุ่มคนที่มานั่งอยู่ก่อนโดยไม่รู้ตัว

ผู้ที่อยู่ในกลดนั่งสงบ เบื้องหน้าไม่มีข้าวของถวายระเกะระกะ เมื่อขยับไปนั่งต่อคนอื่นก็เห็นว่าท่านเป็นพระชรา หากใบหน้าที่เหี่ยวย่นนั้นดูสงบ เยือกเย็น ไม่มีแววหลุกหลิก หญิงสาวทรุดตัวนั่งอัตโนมัติ พนมมือกราบ

อะไรสักอย่างที่ทำให้ไม่อยากลุกไปไหน เหมือนกับบริเวณนี้เคยมีพระนั่งตรงนี้แล้วมีคนนั่งล้อมรอบฟังคำสั่งสอน แต่ไม่ทราบว่า…เมื่อไหร่

เสียงทุ้มเย็นกล่าวเป็นภาษาบาลีพร้อมกับแปลใจความตอนหนึ่งในพุทธประวัติ ทำให้คนมาใหม่พนมมืออย่างสงบ “ขอให้โยมทั้งหลายได้นำไปพิจารณาเหตุแห่งสิ่งที่ทำให้เกิดผลเหล่านี้อย่างมีสติ…”

“อิมสฺมึ สติ อิทํ โหตุ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ*[i]

พูดจบท่านก็กล่าวเป็นภาษาบาลี ทุกคนรวมทั้งณิรชายกมือสาธุ พระธุดงค์จึงนั่งนิ่ง หลับตา ผู้คนจึงสะกิดกันลุก

“ไปเถอะ บอกแล้ว ใครมาขอท่านก็ไม่ให้ หนำซ้ำยังสั่งสอนอีก” ใครคนหนึ่งพูดเสียงเบาแต่ก็พอได้ยิน

“น่าเสียดาย พระอย่างนี้ แสดงว่าท่านแรงจริงๆ ถ้าให้สักสามตัว รับรองรวยเละ” ฟังแล้วอดยิ้มไม่ได้

คนพูดคงเห็นพระเป็นสัญลักษณ์อย่างอื่นด้วย หญิงสาวฟังเสียงวิจารณ์พลางนึกขำ คนเราก็แปลกที่ชอบเรื่องเสี่ยงดวง ข่าวที่เคยได้ยินมา ต้นไม้ทรงประหลาดหรือออกลูกออกดอกผิดปกติก็พากันไปขูดต้นไม้ไปจุดธูปขอหวย คนที่เชื่อก็เชื่อเสียจริง ไม่ใช่แค่คนไทยหรอก เป็นกันไปหมดทั้งโลก ฝรั่งที่รู้จักบางคนยังชอบดูหมอดูฮวงจุ้ย

ณิรชาเคยไปบ้านเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งที่อวดว่าตนจัดบ้านตามหลัก ‘ฮวงซุ้ย’ ทำเอาหญิงสาวหัวเราะไม่ออก ต้องพยายามแก้ความเข้าใจของเพื่อนให้ถูกต้อง

“แหม…แค่ท่านเทศน์นี่ก็ได้บุญเยอะเชียวพี่ อย่าไปกวนท่านเลย”

ณิรชาก็ไม่อยากกวนเหมือนกันเลยขยับตัวบ้าง เกือบจะลุกขึ้นแล้วถ้าคนที่มาก่อนไม่สะกิด

“จะทำสังฆทานไม่ใช่หรือหนู” คนที่นั่งต่อข้างหลังท้วง

“ค่ะ” ณิรชาเห็นว่ามีคนมาถวายด้วยเช่นกัน

“เอาไปถวายท่านสิ” ผู้แก่วัยกว่าพยักพเยิด ทำให้เห็นว่ามุมหนึ่งของสังคมยังมีการเอื้ออาทรกันอยู่เสมอ

หญิงสาวไม่กล้าอิดออดจึงขยับคลานเข้าไปด้านหน้า

พระภิกษุผู้ชราลืมตาขึ้นมาครู่หนึ่งก่อนจะถามด้วยความเมตตา

“โยมมาจากไหนหรือ”

“จากกรุงเทพฯ ค่ะ” ณิรชาพาซื่อ รู้สึกคุ้นหน้าพระองค์นี้แต่บอกไม่ถูกว่าเคยเห็นที่ไหน ท่านดูสูงวัยแต่แข็งแรง ไม่ทราบว่าธุดงค์มาจากที่ไหน หญิงสาวสนทนากับพระไม่เก่งด้วยสิ

“กล่าวถวายสังฆทานเองได้ไหม”

“ไม่ได้ค่ะ” หล่อนยิ้มแหย…ก็ทุกทีจะมีพระนำสวดให้นี่นา คนที่นั่งอยู่ด้วยหัวเราะกันเบาๆ

“เอ๊า! ว่าตามอาตมานะ”

หญิงสาวพนมมือแต้รอกล่าวตาม เมื่อกรวดน้ำเสร็จแล้วถึงได้กราบลาพระแล้วออกมา รู้สึกอิ่มใจอย่างประหลาด ตัวลอยๆ ชอบกล เมื่อเดินไปถึงรถค่อยได้ยินเสียงแว่วออกมา

โธ่! ที่แท้ก็ลืมโทรศัพท์ไว้ในรถนี่เอง

พรรณพิลาศโวยวายมาตามสาย “แม่จอมยุ่ง! หายไปไหนนี่! ฉันอุตส่าห์ลี้งานกลับมา” เพื่อนสาวซักไซ้ไล่เลียง

“อยู่อยุธยาจ้า กำลังจะกลับ” ณิรชาบอกเสียงอ่อย

“อะไรกัน! อาทิตย์ที่แล้วก็เพิ่งไปกัน หายใจเข้าหายใจออกเป็นอยุธยา มาคราวนี้ใจคอหล่อนจะย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ที่นั่นเลยหรือยะ”

ที่ไม่อยากบอกก็เพราะอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตั้งใจแล้วว่าจะนั่งทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ สักวัน แต่จู่ๆ ณิรชาเกิดอยากมาที่นี่ก็เลยลุกขึ้นแต่งตัวขับรถมาอยุธยาเสียอย่างนั้น

“ไม่ใช่น่า… เห็นว่าพวกเธอไปทำงานกัน ฉันอยู่รอพวกเธอกลับ ไม่มีอะไรทำก็เลยมา นี่ทำบุญไปตั้งหลายวัด”

“เออ…ทำบุญไกลจริงนะ กลับมาให้ทันออกไปทานข้าวเย็นล่ะ แล้วก็…ขับรถดีๆ เธอยิ่งซุ่มซ่ามอยู่ด้วย“

หญิงสาวหัวเราะคิก ทราบว่าพรรณพิลาศเว้นไว้ไม่เอ่ยถึงอะไรที่ไม่เป็นมงคล แม้ครอบครัวของเจ้าหล่อนเป็นครอบครัวสมัยใหม่ แต่ด้วยความที่เป็นตระกูลเก่าถึงทำให้ยังผูกพันกับความเชื่อเก่าๆ บางเรื่องอยู่

“จ้า! กำลังจะกลับแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง” หญิงสาววางโทรศัพท์ไว้ข้างๆ ตัวก่อนจะออกรถไปตามทางเดิมที่เข้ามา ไม่ไกลจากวัดเท่าใดนัก ผ่านสามแยกข้างหน้าก็เกือบจะออกถนนใหญ่เพื่อที่จะมุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯ แล้ว มุมโค้งของสามแยกเป็นแยกไม่ใหญ่มาก ไม่มีไฟเขียวไฟแดง เยื้องไปอีกมุมด้านติดกับแม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่ขนาดหลายคนโอบแผ่กิ่งก้านซับซ้อนออกไปหลายช่วง ลำต้นแม้ไม่ตั้งตรงออกจะเอียงกระเท่เร่นั้นบ่งบอกถึงช่วงอายุที่ยาวนาน

ทั้งๆ ที่ระมัดระวังแล้ว ทั้งที่ฝีมือการขับรถไม่เป็นรองใคร แต่การระวังแค่คนเดียวเห็นทีจะช่วยไม่ได้

รถกระบะคันใหญ่วิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ผ่านด้านตัดของสามแยกพุ่งออกมาโดยไม่มีการชะลอ จังหวะเดียวกับที่รถเก๋งคันงามของณิรชากำลังอยู่กึ่งกลางของแยกพอดี

หญิงสาวเห็นเพียงแค่หัวรถกระบะพุ่งเข้ามาชนตรงกลางรถ ได้ยินเสียงดังสนั่นพร้อมกับรู้สึกถึงแรงสะเทือนและแรงกระแทก รถทั้งคันเอียงลงด้านข้าง และเวลาไม่กี่วินาทีก็ถูกดันให้ไถลไปตามแนวของรถกระบะ ตกลงไปจากขอบถนน รถกลิ้งไปอย่างไรไม่ทราบ ทราบแต่เพียงปลายทางนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ ทุกอย่างรอบกายราวจะแตกยับลงมา

วินาทีสุดท้าย! ณิรชารู้สึกว่าตัวเองถูกอัดอยู่ระหว่างรถกระบะและต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น รอบข้างคับแคบไปหมด เจ็บ…รวดร้าวไปหมดทั้งร่าง…กลิ่นคาวๆ พร้อมกับเลือดสีแดงบนร่าง ไม่มีเสียงครางใดๆ ออกมานอกจากพยายามหลับตาเพื่อให้ลดความเจ็บปวด ระลึกสุดท้ายคือบทสวดสังฆทานกระท่อนกระแท่นที่เพิ่งได้ยินเมื่อครู่ ทำไมถึงจำได้นะ

…พยายามทำใจให้ว่างเปล่า ให้สงบ… ถ้าจะต้องตาย ขอให้ตายเร็วๆ อย่าได้ทรมานเกินไปกว่านี้

อนุสติดับวูบไปพร้อมกับสรรพสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง …

 

บทที่ 2 สู่กาลเวลา

 

แสงสว่างจากปากทางอุโมงค์ด้านหน้าเร่งเร้าให้รีบพลุ่งพ้นออกไป

กลิ่นดอกไม้หอมเย็นแตะจมูก หญิงสาวคล้ายถูกแรงดึงให้ตรงไปทางนั้น ร่างกายเบาหวิวจนต้องพยายามไขว่คว้าหาที่เกาะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหล่อนผวาลืมตาตื่นขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับความรู้สึกบางอย่าง

“โอ๊ย! จุก!” ณิรชาคราง จุกที่หน้าอกและมึนศีรษะเล็กน้อย นึกทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะค่อยขยับตัวเพื่อเช็กว่าทุกส่วนของร่างกายยังอยู่ครบ

“ไม่ขาด ไม่ด้วน …ค่อยยังชั่วหน่อย” หญิงสาวพึมพำกับตัวเองด้วยความโล่งใจ นึกว่าจะเป็นอะไรมากกว่านี้เสียอีก

แต่เอ๊ะ! คิดว่าไม่ได้ฝันแน่ๆ

ภาพเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมายังฝังอยู่ในความทรงจำ ไม่มีทางเป็นฝันไปได้ กลิ่นคาวเลือดและความรู้สึกเจ็บร้าวยังอยู่ในจิตใต้สำนึก พอพยายามขยับตัวเพื่อหนีความรู้สึกเจ็บปวดที่หน่วงอยู่บนร่างก็เริ่มสังเกตเห็นว่า…ภาพเพดานที่เคยคุ้นกลับแปลกไป

ณิรชาเบิ่งตามองขื่อบนเพดานไม้ที่ดูแข็งแรงมาก กลอกตาไปมาพยายามปรับสายตาให้ชินกับภาพที่อยู่โดยรอบ ห้องนี้ใหญ่ไม่ใช่เล่น ฝาห้องเป็นไม้แผ่นใหญ่แบบไม่ตอกตะปูดูคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคย รูปร่างของหน้าต่างนี่สิ เป็นรูปหน้าต่างยาวสูงขอบต่ำแบบเรือนไทยแท้เชียว มองเห็นยอดไม้รำไร ทำให้นึกถึงบ้านเรือนไทยที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปไม่รู้กี่หลังต่อกี่หลัง

“ที่นี่ที่ไหน” หล่อนถามตัวเองเสียงแผ่ว

เท่าที่จำได้คือตนเองเพิ่งเสร็จจากการไหว้พระและกำลังจะขับรถออกจากอยุธยา พอถึงทางโค้งก็เจอรถคันหนึ่งวิ่งรี่ตรงเข้ามาหา ล่าสุดก็คือรถยนต์ของหล่อนกลิ้งม้วนลงข้างทางตามมาพร้อมกับความเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กายราวกับทุกส่วนถูกทุบจนแหลกละเอียด…และ…ลมหายใจที่ขาดห้วง

แปลกเหลือเกิน แม้ความรวดร้าวเจียนตายนั้นยังฝังอยู่ หากที่ร่างกายเป็นอยู่ตอนนี้นอกจากความเมื่อยล้าแล้ว ยังไม่มีเค้าความบาดเจ็บแบบนั้นเหลืออยู่

“แล้ว ที่นี่ที่ไหนกัน” หญิงสาวพยายามยันตัวให้ลุกขึ้น ดึงผ้าแพรที่หุ้มตัวออก

“เฮ้ย!” ณิรชาร้องออกมาอีกครั้ง ก็จะไม่ให้ร้องได้อย่างไรไหว ในเมื่อหล่อนกำลังสวมผ้านุ่งผ้าแถบคาดอกอยู่อย่างนี้ ถ้าเจ้าพวกเพื่อนฝูงทั้งหลายรู้เข้าคงโดนหัวเราะเยาะตายเลย ยิ่งไปกว่านั้น…

“พระเจ้าช่วย!” คำอุทานออกมาอีกครั้ง

ให้ตายเถอะ! ใครจะเชื่อ! กระจกในกรอบไม้ลายฉลุงดงามสะท้อนภาพคนที่นั่งอยู่บนเตียง ถึงเงาในกระจกจะไม่ชัดเปรี๊ยะก็เถอะ หญิงสาวสบสายตากับร่างในกระจกแล้วก้มลงมองตัวเอง ไม่มีใครจำตัวเองไม่ได้ถ้าไม่อยู่ในภาวะความจำเสื่อม ‘ณิรชา ทัศนกุล’ ที่รู้จักเป็นหญิงสาวที่เลยวัยเบญจเพสแล้ว ผิวออกขาวอมชมพู ผอมบางจนเห็นกระดูกตามข้อต่างๆ ทรงผมรึก็สั้นกุดแบบล้ำสมัยไม่แคร์ใคร

และถ้ามีใครสักคนในที่นี้รู้จัก… ณิรชาคนนั้นจะไม่มีวันสวมผ้าถุงหรือนุ่งผ้าแถบแบบนี้เด็ดขาด!

ถึงจะให้เล่นละครก็เถอะ ไม่มีใครเห็นหล่อนยอมแสดงเป็นตัวนางสักที

แล้ว…คนที่นั่งอยู่ตรงนี้เป็นใครกันเล่า! เด็ก…สาว วัยไม่น่าจะเกินสิบเจ็ดสิบแปด ผิวคล้ำนวล เครื่องหน้าเข้มออกไทยแท้ ถึงจะดูเซียวไปสักหน่อย แต่ก็จัดได้ว่าเป็นคนสวยหวานคนหนึ่ง โดยเฉพาะผมยาวสลวยที่ล้อมกรอบหน้ารูปไข่ เสียอย่างเดียว ไม่! สองอย่างสิ เจ้าเนื้อไปนิด แล้วยังจะนุ่งผ้าแบบนี้อีก ดูเก่าโบราณเสียเหลือเกิน

“ใคร…” รู้สึกมึนงงอย่างบอกไม่ถูก ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน เด็กสาวในกระจกก็ขยับท่าตาม

หญิงสาวรีบขยับลุกแต่ก็ต้องซวดเซแล้วล้มลงไปบนที่นอนใหม่ แม้ไม่มีรอยเจ็บปวดสาหัสจากอุบัติเหตุ แต่ร่างกายนี้กลับอ่อนแรงจนขยับลุกแทบไม่ไหว บ่งบอกว่าเจ้าของร่างนั้นไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ หล่อนรวบรวมเรี่ยวแรงทั้งหมดค่อยๆ ชันกายลากตัวเองไปใกล้หน้ากระจก

หัวใจ ความคิดและจิตวิญญาณเป็นของคนชื่อณิรชา

แต่ร่างกายและสิ่งรอบข้างนี่สิ เป็นของใคร

โอ๊ย! หรือว่าเป็นบ้าไปแล้ว

หญิงสาวเริ่มปรับสติ …คงฝันสินะ! ลองหยิกตัวเองตั้งหลายครั้ง รู้สึกเจ็บแต่ไม่ยักตื่น เลยไม่ทราบจะทำอย่างไร เถอะ…ให้คิดว่าเป็นเรื่องผจญภัยสักพัก พอถึงจุดไคลแมกซ์จริงๆ เดี๋ยวก็ต้องสะดุ้งตื่นเองนั่นแหละ

ณิรชาปลอบใจตัวเองไปตามเรื่องทั้งๆ ที่ฝันครั้งนี้เสมือนจริงเหลือเกิน

 

สักพักก็คล้ายกับได้ยินเสียงเหมือนคนตะโกนคุยกัน เสียงคนเดินเริ่มดังเข้ามาสู่โสตประสาท

หล่อนค่อยๆ ลากตัวไปบนพื้นกระดานแผ่นใหญ่มากและถูกขัดเรียบจนเป็นมัน สะอาดเอี่ยมราวกับมีคนเช็ดถูทุกวัน แล้วค่อยๆ แนบแก้มกับข้างหน้าต่าง ภาพที่เห็นทำให้อยากจะผุดลุกขึ้นไปดูชัดๆ

โอย…นี่หล่อนกำลังอยู่ในกองถ่ายหรือหลงยุคจริงๆ กันแน่!

ดูที่ข้างล่างสิ เหมือนกองถ่ายละครพีเรียดฟอร์มยักษ์เลยทีเดียว บ้านหลังนี้คงเป็นบ้านหลังใหญ่ ข้างหน้าต่างมีต้นไม้ให้ร่มเงาโดยทอดเข้ามาที่ห้องอยู่ต้นหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นต้นอะไร ปลายกิ่งส่วนใหญ่มีดอกไม้ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ เข้ามา และคงเป็นกลิ่นนี้…ที่ปลุกเร้าให้ลืมตา

ส่วนถัดออกไปเป็นสนามกว้างมีไม้ดอกไม้พุ่มถูกตัดแต่งงดงาม ไกลออกไปจากสนามกว้างมองเห็นเป็นแนวน้ำ คงเป็นคลอง เห็นศาลาท่าสำหรับนั่งเล่นและบ้านอยู่สองสามหลัง มีคนพายเรืออยู่ในคลองนั้น แน่ล่ะ…ทุกลำไม่มีเครื่องยนต์

เห็นคนกลุ่มหนึ่งเดินถือกระจาด หรือไม่ก็กำลังขนของบางอย่างทั้งหญิงชาย ล้วนแต่งกายแบบ… เอ้อ…แบบที่เคยเห็นในรูปในหนังสือเก่าที่เก็บไว้ ผู้หญิงน่าอายหน่อย บางคนเปลือยอก เห็นของสงวนย้อยห้อยโตงเตง น่าขำ! ไม่ยักกะมีใครขัดเขิน

แล้ว…ร่างนี้เล่าต้องไปทำงานเช่นนั้นหรือไม่

ณิรชาก้มดูตัวเองที่ไม่ใช่ตัวเอง ร่างนี้เป็นบ่าว ทาส หรือเมียน้อยคนหนึ่งคนใดในบ้านหลังนี้ แล้วก็ต้องถอนหายใจ แม้จะโอนเอียงไปแล้วว่าไม่ได้ฝัน แต่…เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเหลือเชื่อเกินไป…

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ที่นี่…คือที่ไหน ยุคใด คิดจนสมองแทบระเบิด!

จู่ๆ ประตูห้องก็เปิดกว้างขึ้น สตรีประพิมพ์ประพายคล้ายคนในกระจกหากท้วมและสูงวัยกว่าก้าวเข้ามาเบิกตากว้าง

“ไพลิน ลูกแม่! ลูกของแม่ฟื้นแล้ว!” สายตาที่ทอดมองมานั้นบ่งบอกถึงความปรีดาอย่างลึกซึ้ง

“แม่หญิง!” คนที่เดินตามมาก็ส่งเสียงดังไม่แพ้กัน หนำซ้ำยังเร็วกว่า รีบเข้ามาประคองหล่อนซึ่งกำลังตกใจทำอะไรไม่ถูกเช่นกัน

“เอ้อ…” ยังไม่ทันทำอะไร ร่างทั้งร่างก็ถูกสวมกอดแน่นจากผู้ที่เข้ามาเป็นคนแรก กระแสแห่งความอบอุ่นนั้นหลั่งไหลเข้าสู่ร่าง

แปลกที่หัวใจเกิดอาการสั่นไหว เต็มตื้นในอก

และน่าประหลาดยิ่งนัก ที่จู่ๆ น้ำตาก็ไหลออกมา

นานแล้วที่ไม่มีใครโอบกอดด้วยความรักที่ลึกซึ้งขนาดนี้ เพราะแม้ในยามโทรศัพท์ไปบอกมารดาที่อยู่คนละรัฐว่าจะกลับมาอยู่ประเทศไทยนั้นก็เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูกนั้นห่างเหินราวกับเป็นเพียงแค่คนรู้จัก อ้อมกอดครั้งสุดท้าย เมื่อไหร่…ก็จำไม่ได้แล้ว

ช่วงเวลานี้จึงคล้ายกับช่องว่างในหัวใจที่ขาดหายไปเหล่านั้นถูกเชื่อมประสานด้วยสายใยบางอย่าง อิ่มเอม และอบอุ่นจนอดไม่ได้ต้องค่อยๆ ยกมือขึ้นโอบตอบร่างท้วมนั้น…ผิวของผู้หญิงคนนี้อวบนิ่มดีจัง…หอมด้วย

“แม่…” ณิรชายิ้มจืด มึนงงแต่ต้องทำหน้ารู้เรื่องเอาไว้ก่อน แก้มซ้ายขวาหน้าผากถูกหอมจนทั้งแก้มเปื้อนน้ำตาของผู้ที่เข้ามาไหลไม่ขาดสาย

“ลูกแม่ ลุกได้แล้ว ลูกหายแล้ว แม่นึกว่าลูกจะไม่ลุกมาคุยกับแม่เสียแล้ว” มือนุ่มนิ่มลูบไล้บนหน้าและเส้นผม ทำได้เพียงแต่นั่งนิ่งๆ

นานเหลือเกินที่ไม่ได้รับการแสดงออกถึงความรักเช่นนี้ ถ้าเป็นฝัน ก็ขอฝันต่ออีกนิดเถอะ…

“อ่อนเอ๊ย! ลูกข้าหายแล้วจริงๆ ทั้งยาของหลวงตา ทั้งคำสาบานของพ่อดวง ยื้อชีวิตแม่ไพลินไว้ได้จริงๆ” ประโยคหลังคนที่เป็นแม่หันไปพูดกับคนที่ตามเข้ามาด้วย คราวนี้ถึงได้เห็นอีกคนยิ้มหน้าระรื่นจนเห็นฟันดำ เพิ่งจะสังเกตเห็นว่าทุกคนฟันดำ ต้องเป็นเพราะเคี้ยวหมากแน่ๆ

“แม่หญิงเจ้าขา บ่าวดีใจเหลือเกินเจ้าค่ะ” คนพูดยกผ้าแถบขึ้นซับน้ำตา

หญิงสาวตัดสินใจที่จะไม่พูดอะไรดีกว่า ภาษาที่ฟังออกจะแปร่งหู ดูโบราณหากก็ไม่ยากเกินเข้าใจ แม้การแสดงออกแปลกๆ แต่ไม่มีอะไรดีกว่าการอยู่เฉยๆ ดูลาดเลาไปก่อน ปล่อยให้คนประคองขึ้นไปนั่ง ลูบหลังลูบไหล่ปลาบปลื้ม

“ยังปวดหัวอยู่หรือเปล่านะลูก อ่อน…เอ็งไปตามท่านหมอมา แล้วให้ไอ้ดำไปรอคุณท่านที่หน้าวัง เรียนท่านว่าวันนี้ให้รีบกลับบ้าน“

“เจ้าค่ะ” คนที่ชื่ออ่อนรับคำ ส่งสายตาห่วงใยก่อนที่จะออกจากห้อง

“คุณพ่อคงดีใจนะลูกจ๋า แม่ไพลินลูกแม่” คนเป็นแม่ลูบศีรษะ

เด็กสาวเจ้าของร่างนี้ชื่อไพลินหรือนี่ รูปงาม…นามเพราะ ‘ไพลิน’ เรียบง่ายแต่งดงามเหมาะเจาะดี ใครจะมาตั้งชื่อลูกสลับซับซ้อนจนหาคำแปลตรงๆ ไม่ได้เหมือนโลกที่หล่อนรู้จักเล่า

สักครู่คนที่ชื่ออ่อนก็กลับเข้ามานั่งอยู่ใกล้ๆ ดูจากคำพูดคำจาแล้ว คนนี้น่าจะเป็นคนในบ้าน หากมองพิศไปอีก หญิงสาวก็ว่าใบหน้าของอ่อนคล้ายคนบางคนที่รู้จัก

เถอะ…เพื่อความอยู่รอด จำต้องนั่งทำตาปริบๆ ฟังคนพูดกันด้วยภาษาสำเนียงแปร่งๆ โชคดีที่หล่อนไม่ใช่เมียน้อย แต่เป็นลูกของบ้านใหญ่โตอีกทั้งบ่าวไพร่มากมาย ที่สำคัญดูเหมือนบ้านหลังนี้จะเป็นบ้านของคนมีฐานะและยศศักดิ์คนหนึ่ง

หญิงสาวพยายามทบทวนความรู้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมว่าคนสมัยนี้เขาวัดสถานะทางสังคมกันอย่างไรนะ จะเป็นไร่นาและบ่าวไพร่อย่างที่พอทราบมาหรือไม่ ถ้าที่นี่เป็นยุคโบราณจริง ท่าทางแม่หญิงไพลินคนนี้คงอยู่สบายไม่น้อย

สบายแบบคนโบราณอย่างไรเล่า!

ผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า ‘แม่’ คนนั้นมาลูบแขนลูบศีรษะไปพลางร้องไห้ไปพลาง หนำซ้ำยังเอ่ยชื่อใครอีกก็ไม่ทราบ ฟังไม่ถนัด ไม่ค่อยเข้าใจนัก

ณิรชายังวิเคราะห์ไม่ออกว่าที่นี่ที่ไหน เวลาใด หล่อนอาจจะกำลังหลงอยู่ในความฝันที่ต่างสถานที่ ต่างเวลา

ทว่ารู้สึกว่าฝันนี้เป็นเรื่องเป็นราวและนานเกินไปแล้วนะ… หยิกตัวเองกี่ครั้งก็ยังไม่เห็นจะสะดุ้งตื่นสักที!

“คุณหญิงเจ้าขา แม่หญิงก็ลุกมาแล้ว ต้องดีใจนะเจ้าคะ ท่านเองสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ประเดี๋ยวจะล้มเจ็บลงไปอีก”

“ก็ข้าดีใจน่ะสิอ่อน คิดดูสิ ลูกข้าป่วยเป็นแรมเดือน อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมากินข้าวกินปลาได้ จะไม่ให้ข้าร้องไห้ได้อย่างไร รึจะให้แค่พยักหน้าว่าดีแล้วออกไปอย่างไม่มีอันใดรึ” เสียงผู้เป็นนายค้านอย่างเคืองๆ ไม่จริงจังนัก ก่อนจะหันมาทางหล่อนที่ทำหน้าตาเหลอหลา

“ไพลิน เจ้าหิวบ้างไหมเล่า ไม่ได้กินอะไรมาตั้งนานวัน ถ้าไม่มีอะไรตกถึงท้อง ที่ฟื้นๆ อยู่จะทรุดลงไปอีก ใครก็ได้ข้างนอกเอาข้าวปลามาให้ลูกข้าหน่อยเร็ว อย่าเอาของแสลงมาล่ะ”

ไม่ทันต้องตอบ คนที่เรียกตัวเองว่าแม่ก็สั่งการให้คนไปจัดเตรียมของกินเข้ามา

กองทัพต้องเดินด้วยท้องเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยทีเดียว

ข้าวต้มร้อนฉุยเละๆ ถูกยกเข้ามาในห้องพร้อมๆ กับท้องที่เริ่มอุทธรณ์ กับข้าวสำหรับคนป่วยอาจไม่น่ารับประทานสำหรับคนอื่น หากณิรชาไม่เกี่ยง กินง่ายนอนง่ายมาแต่ไหนแต่ไร เห็นทีจะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่แปลกประหลาดอย่างนี้

ไม่กล้าถามหรอกว่านอกจากคนที่เขาเรียกกันว่าคุณหญิงนั้นเป็นใคร เห็นเรียกว่าอ่อน จะเป็นญาติก็ไม่น่าจะใช่เพราะผิวพรรณนั้นแตกต่างกันกับคุณหญิง แต่สายตาและรอยยิ้มนั้นซื่อบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยแววตารักใคร่ ปากที่มีแต่สีหมากนั้นแย้มยิ้มอย่างยินดี หนำซ้ำเจ้าหล่อนยังคอยเฝ้าดูแลอยู่ใกล้ๆ ไม่ไปไหน

“อร่อยเหลือเกิน” ข้าวต้มคำแรกที่ถูกป้อนมาให้ก่อให้เกิดเรี่ยวแรงขึ้นมาอย่างประหลาด ความรู้สึกอีกนั่นแหละ บอกเอาไว้ว่าร่างกายนี้ไม่มีอาหารตกถึงท้องมานานพอควร มิน่าถึงรู้สึกโหวงๆ

“กินให้เยอะๆ นะลูก โถ…คงหิวสินะ เจ้าไม่กินอะไรมานานจนแม่ก็แทบจะไม่อยากกินอะไรเลยตามเจ้า” มือนุ่มๆ ลูบศีรษะประคองไหล่

ข้าวต้มใส่เกลือเค็มกำลังพอดี กับข้าวพื้นๆ ทำให้ลืมตัวทำเงียบหงิมๆ ไปชั่วขณะ ภาษาที่พูดแม้ว่าจะพอฟังออกแล้ว หากบางคำก็แปร่งและเพี้ยน ‘โบราณ’ เกินไป

หญิงสาวรับประทานพลางชำเลืองแล พยายามสังเกตคนที่เรียกตัวเองว่าแม่ และอีกคนที่ยอมรับว่าหน้าตาละม้ายคล้ายพรรณพิลาศ ยิ่งดูยิ่งเหมือน ถ้าแม่เพื่อนสาวตัวดำอีกนิด แก่กว่านี้อีกหน่อยคงคิดว่าคนคนเดียวกัน

มืออวบอูมตักข้าวต้มและกับป้อนใส่ปากอย่างอ่อนโยน ณิรชารับรู้ถึงความรักลึกซึ้งของคนเป็นแม่ แม้เป็นคนอื่นยังอดตื้นตันไม่ได้อยู่ดี

ตลอดชีวิต แม้จะโหยหาความรักของพ่อและแม่ที่เลิกร้างกันไป ต่างคนต่างมีครอบครัวใหม่และธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่เวลาที่แยกจากกันนั้นนานนักหนา ทำให้หล่อนเลือกที่จะปฏิเสธและเย็นชากับพวกเขามาตลอดเวลา

ทว่ามือที่คอยหยิบจับกับข้าวให้นี้ช่างอ่อนโยนราวกับได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ไม่อาจปฏิเสธความเมตตานี้ได้

จนถึงชามที่สามนั่นแหละถึงได้ชะงัก นี่ขนาดไม่สบาย ร่างนี้ยังออกจะดูท้วมๆ ไปหน่อย ถ้าขืนหล่อนเจริญอาหารไปมากกว่านี้คงหนีไม่พ้นเป็นตุ่มแน่

“อิ่มแล้วหรือลูก” คุณหญิงเจ้าของบ้านเห็นว่าหล่อนขยับถอยห่าง

ณิรชาพยักหน้าตอบเสียงเบา แม้จะเป็นกิริยาที่ดูไม่ดีนัก หากก็ไม่ค่อยแน่ใจในภาษาที่จะใช้ ไม่ว่าหนังสือฉบับไหนก็ไม่สามารถบอกแบบอย่างที่แท้จริงได้ แต่ที่ได้ยินนี่ก็กึ่งๆ จะออกสุพรรณหน่อยๆ แต่ก็ไม่ถึงชัดเจนเสียเลยทีเดียว

หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็มีคนมายกสำรับกลับไปอย่างนอบน้อม

“นังอ่อน เอ็งรีบไปเอายาที่ต้มรอเอาไว้มาชามหนึ่ง ให้แม่ไพลินกินหลังข้าวแล้วจะได้นอนพักผ่อน”

“บ่าวเตรียมไว้ข้างนอกแล้วเจ้าค่ะ” คนชื่ออ่อนรีบคลานออกไปข้างนอก ไม่กี่วินาทีก็กลับมาพร้อมกับน้ำสีดำชามใหญ่ กลิ่นบอกชัดๆ ว่าเป็นอะไร

“เอ้อ…” ยามเมื่อยังเยาว์ เมื่อเด็กหญิงณิรชาล้มเจ็บ ทั้งปู่ทั้งย่าทั้งตาทั้งยายต่างเคี่ยวเข็ญให้ดื่มยาโบราณของพวกท่าน พอโตมาก็เจอแต่ยาฝรั่ง กลับมาได้กลิ่นอีกทีก็…

หญิงสาวหน้าเหี่ยวมองดูน้ำสีดำอย่างชั่งใจ

“ดื่มสักนิดเถอะลูก นี่หลวงตาน้อยท่านอุตส่าห์เจียดมาให้ แม่ต้มรออยู่หลายรอบแล้ว เจ้าไม่ลุกสักที”

เห็นแก่ความรักของคนเป็นแม่ที่ถ่ายทอดมาสู่จึงจำใจฝืนกลืนลงคอ น้ำกลิ่นฉุนกึกแฝงรสหวานแทรกอยู่ปลายลิ้นผ่านลำคอไปได้สองสามอึกก็ต้องสำลักแล้วอาเจียนออกมาพร้อมข้าวต้มที่เพิ่งกลืนลงไป ร่างกายนี้อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับอะไรก็ได้ เมื่อครู่อัดข้าวต้มเข้าไปตั้งมาก พออาเจียนออกมาก็หมดแรง

คราวนี้ไม่มีเวลาคิดอะไรนอกจากปล่อยให้คนปรนนิบัติเช็ดเนื้อเช็ดตัวทำความสะอาด ร่างกายนี้อ่อนแอเหลือเกิน แม้จะมีกำลังใจจากจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่คงเป็นเพราะร่างกายที่เข้ามาอยู่นั้นเจ็บป่วยมานานนักหนา ทำให้ไม่สามารถขยับได้อย่างใจต้องการ

“เวียนหัวจังเลย ทรมานเหลือเกิน” หล่อนพึมพำ คอตกซุกหมอน หากนั่นยังไม่อาจบรรเทาอาการหัวหมุนได้

“ณิรชา ตื่นเสียที! ตื่นเสียที!” เรียกตัวเองให้ตื่นจากฝันนี้เสียที

ในอนุสติ ณิรชากระเสือกกระสนที่จะถอนพันธนาการบางอย่างที่รัดตรึงอยู่

“ลูก ลูกจ๋า นอนพักผ่อนก่อนนะ เดี๋ยวแม่ให้คนไปตามคุณพ่อ ไปตามพี่ดวงมาแล้ว” เสียงอ่อนโยนกระซิบข้างหูทำให้อาการทุรนทุรายค่อยสงบลง

จากนั้นหล่อนก็ผล็อยหลับไป แต่เป็นการหลับๆ ตื่นๆ ที่ทรมานมากเหลือเกิน ทุกๆ ครั้งที่ลืมตาก็จะเห็นคนสองคนคือแม่ และคนที่ชื่ออ่อน นานๆ ทีจะเห็นเป็นชายวัยกลางคน บางครั้งเขาเอามือมาแตะหน้าผากของหล่อน

ไม่สิ! ของคนที่ชื่อไพลินนี่ต่างหาก

“ท่านเจ้าคุณว่าอย่างไรเจ้าคะ ตอนแรกลูกลุกขึ้นมาท่าทางแข็งแรงกินข้าวได้ อิฉันเอาข้าวปลาอาหาร พอรับยาเข้าไปก็ทรุดลงแบบนี้อีก”

“พี่ว่าเจ้าอย่าเพิ่งตระหนกไป ลูกป่วยไม่ได้สติเป็นนาน พอลุกขึ้นมาก็รีบให้ข้าวให้ยา นังอ่อนมันบอกว่ากินข้าวไปตั้งเยอะ มันอาจจะแสลงก็ได้ พี่ส่งคนไปถามหลวงตาท่านว่าถ้าเริ่มขยับลุกได้ก็ไม่เป็นไรแล้ว”

“เจ้าค่ะ แม่หญิงรับข้าวตั้งสามชาม”

“ดูสีหน้าแล้วมีสีเลือดขึ้นมาไม่ซีดเซียวแล้ว น่าจะดีขึ้น พรุ่งนี้คงดีกว่าวันนี้เป็นแน่”

เสียงถอนหายใจจากคนที่เป็นแม่ดังขึ้น

“นี่พ่อดวงไม่อยู่อีกแล้ว จะกลับอีกกี่วันเจ้าคะ” ชื่อของอีกคนหนึ่งถูกเอ่ยถึง ใครกันอีกล่ะ

“มะรืน นี่เขาไปราชการกับพ่ออรรถ” อ้อ…มีชื่อเพิ่มมาอีกคนแล้ว

หญิงสาวนิ่วหน้า ทุกอย่างปะปนอยู่ในความฝัน เสียงอึกอักดังในคอ

“พรรณ รบ ช่วยฉันด้วย!” สติที่คืนมาในบางครั้งร่ำร้องหาคนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด

“ถ้ากลับมาเร็วๆ ก็จะดีไม่น้อย ก่อนไปราชการก็เข้ามาบอกน้องว่าให้หายเร็วๆ จะเอาของมาฝาก น้องก็นอนเงียบไม่รู้เรื่อง ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง”

“เอาเถอะ พี่ว่าคุณหญิงเองก็ต้องไปพักผ่อนเหมือนกัน ปล่อยให้อ่อนกับบ่าวคนอื่นๆ ผลัดกันดูแลสักพัก เดี๋ยวจะล้มไปตามลูกอีกคน ดูแลกันมานานแล้ว”

ไม่ทราบเหมือนกันว่าหญิงสาวครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่เช่นนี้มาได้กี่วันกี่คืนแล้ว นอกจากอาการอ่อนเพลียขนาดหนักแล้ว หล่อนยังรู้สึกเจ็บที่ศีรษะ แต่ที่แน่ๆ ร่างกายจะตอบสนองในบางครั้งเวลามีคนมาทำเรื่องส่วนตัวให้หรือ เรียกป้อนอาหาร ตามมาด้วยยากลิ่นฉุนกึก

แรกๆ อาการเดิมคืออาเจียนออกมาเท่ากับที่รับเข้าไป สักพักถึงดีขึ้นพอกลืนอะไรตกถึงท้องหน่อย ช่วงหลังๆ พอมีสติ ก่อนจะหลับไปและได้ฟังการสนทนาประโยคยาวๆ เพื่อมาปะติดปะต่อสถานการณ์ได้

ดีเหมือนกันที่ได้นอนนิ่งๆ โดยไม่พูดอะไรนอกจากฟัง ไม่อย่างนั้นคงทำอะไรให้ถูกสงสัยและคงเป็นเรื่องราวใหญ่โต อย่างน้อยก่อนจะทำอะไรต้องให้ทราบสถานการณ์ที่แน่ชัดก่อน หลายครั้งที่แอบถอนหายใจอย่างกังวล หลับตาพลางคิดพลางจนเคลิ้มหลับไปเป็นรอบๆ สงสัยว่าร่างกายนี้คงอาการหนักถึงได้ทรมานเช่นนี้

ณิรชาอยากจะคิดว่าตอนนี้กำลังฝันเกี่ยวกับการผจญภัยเป็นตุเป็นตะอย่างที่เคยใฝ่ฝัน

หลงยุคอย่างนั้นหรือ…ไม่หรอกน่า!

นี่อาจเป็นผลพวงของอุบัติเหตุ หลังอุบัติเหตุหล่อนอาจจะตายไปแล้ว และตอนนี้วิญญาณกำลังล่องลอยเสาะหาที่อยู่

แล้วรูป รส กลิ่น เสียง ที่สัมผัสได้จากประสาททั้งห้าเล่า! จะอธิบายอย่างไร

แล้วจะทำอย่างไรดี จะทำอย่างไรต่อไป ง่วงงุนและเพลียเกินกว่าที่จะคิดต่อไป…

นานเท่าไหร่ไม่ทราบ ณิรชาได้ผวาตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ความรู้สึก ความเจ็บจากอุบัติเหตุยังคงอยู่ไม่จางหาย เหงื่อเม็ดใหญ่ผุดอยู่เต็มตัว รอบกายยังไม่ใช่บ้าน ตึก หรืออะไรที่น่าจะพอเป็นโรงพยาบาลได้อยู่ดี

ทุกอย่างยังคงเป็นเหมือนเดิม ผนังไม้แผ่นใหญ่ของบ้านเรือนไทย ทุกอย่างตกแต่งด้วยดีไซน์โบราณ

นี่หล่อนยังไม่ตื่นจากฝันซ้อนฝันอีกหรือ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วคนที่กรุงเทพฯ เล่า ป่านนี้จะทราบข่าวแล้วหรือยัง ภาวนาอย่าให้ส่งข่าวไปยังครอบครัวที่เหลืออยู่ ไม่อยากให้ใครว่าเป็นคนเจ้าปัญหา

หญิงสาวมองไปรอบๆ อีกฟากหนึ่งของห้องห่างออกไปเป็นร่างคล้ำของคนชื่ออ่อน คงเผลอหลับไปเหมือนกัน กำลังสะลึมสะลือลุกขึ้นได้ก็รีบคลานเข้ามาหา

“แม่หญิงของบ่าวตื่นแล้วหรือเจ้าคะ หน้าตาตื่น เหงื่อเต็มไปหมดเลย” เจ้าหล่อนใช้ผ้าชุบน้ำมาบิดแล้วเอามาแตะซับที่ใบหน้าและลำตัว กลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายกลิ่นที่ชอบนานมาแล้ว กลิ่นของแม่เมื่อตอนเด็กยามกอดรัดก็จะได้กลิ่นนี้ พอโตขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไป กลิ่นพวกนี้จึงเปลี่ยนไปเป็นกลิ่นน้ำหอมต่างประเทศยี่ห้อดังราคาแสนแพง

กลิ่นเดิมของแม่ทำให้ที่นี่ไม่น่ากลัวจนเกินไปนัก

“แม่…” หญิงสาวพึมพำน้ำตาไหลพราก คนฟังคงเข้าใจเป็นอื่น

“อยู่เจ้าค่ะ นั่งอยู่ข้างนอก ท่านเจ้าคุณกลับมาแล้ว กำลังรอคุณหลวงอยู่ข้างนอก เดี๋ยวอ่อนไปเรียนท่านให้นะเจ้าคะ” อ่อนขยับจะออกไป แต่ณิรชาดึงรั้งเอาไว้

“อย่า…เพิ่ง” รู้จักชื่ออยู่คนเดียว ขอยึดเอาไว้ถามข้อมูลก่อน ไม่อย่างนั้นหล่อนคงเหมือนคนตาบอดหูหนวก

“เธอ…พี่อ่อน… ที่นี่ที่ไหน แล้ว นี่…ใคร” หญิงสาวชี้ที่ตัวเอง ยอมโง่ ยอมถูกหาว่าประหลาด

ผลก็คือแม่อ่อนตัวดำตาโต “แม่หญิง! ตายแล้ว นี่ไม่สบายจนจำอะไรไม่ได้หรือเจ้าค่ะ โธ่!”

“แค่…ถาม” ณิรชาพยายามทำให้เป็นเรื่องธรรมดา พยายามใช้คำพูดที่คิดว่าพื้นและใกล้เคียงกับวิธีการพูดของที่นี่มากที่สุด

“คนไม่สบายต้อง…จำอะไรไม่ได้ ฉัน…นอนหลับไปนาน นานมาก ใช่ไหม” หญิงสาวพยายามอธิบายให้คนฟังหายโศก ถึงกระนั้นก็ไม่วายต้องทนฟังคำรำพันของแม่อ่อนจนรำคาญ

“ที่นี่จังหวัดอะไร” หล่อนเปลี่ยนมาใช้คำถาม

“จังหวัด…จังหวัดคืออะไรเจ้าคะ” แม่อ่อนเริ่มงง แล้วนี่จะทำอย่างไรถึงจะรู้เรื่องกัน

“เมืองน่ะ นี่เมืองอะไร”

“อยุธยาอย่างไรล่ะเจ้าคะ”

“อ๋อ…อยุธยา แล้ว เนี่ย…เอ้อ…ฉันนี่เป็นใคร” หล่อนชี้ที่ตัวเองอีกครั้ง

“แม่หญิงก็คือแม่หญิงสิเจ้าคะะ จำแม้กระทั่งตัวเองก็ไม่ได้ โธ่เอ๊ย พุทโธ่ พุทถัง!” ท่าทางของแม่อ่อนทำให้อดขำไม่ได้

“แม่หญิงไพลิน ลูกเจ้าคุณกรมธรรมาธิกรณ์หรือกรมวังกับคุณหญิงพลอยศรี แม่หญิงมีพี่ชายคือคุณหลวงเสนาสรศักดิ์สังกัดกรมนครบาลเจ้าค่ะ”

“อย่างนั้นหรือ” พูดไปอย่างนั้น ชื่อยาวอย่างนั้น…จำยาก หากแค่นี้ก็คงพอเอาตัวรอด

“เอ…แล้วนี่ พ.ศ. อะไร”

“พ.ศ หรือเจ้าคะ มีด้วยหรือ หาเคยได้ยินไม่”

ณิรชาถอนหายใจ จะหาข้อมูลได้อย่างไร “เอ้า แล้วนี่รัชสมัยใด ใครเป็นพระเจ้าอยู่หัว”

“พระเจ้าอยู่หัว” อ่อนทวนคำหน้าตางง “พ่ออยู่หัวเอกทัศน์สิเจ้าคะ…”

“หา…พระเจ้าเอกทัศน์ อยุธยาตอนปลายน่ะสิ” พระนามของพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายในหนังสือที่อ่านและเรียนมายังติดตา

ณิรชาขนลุกซู่…นี่เกิดอะไรขึ้น ฝันแน่นอน…ฝันแน่นอน คนในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอย่างหล่อนนี่นะกำลังอยู่ในยุคพระเจ้าเอกทัศน์ อยุธยาตอนปลาย โอ๊ย! ตาย พยายามคิดแล้วว่าเป็นฝัน เมื่อไหร่จะตื่นเสียที!

หญิงสาวหมดความอดทน พยายามลุกขึ้น

“บ้าแน่ๆ ทุกคนคงบ้ากันไปหมดแล้ว ต้องมีใครแกล้งฉันแน่ ออกมานะ พรรณ! นายรบ! อยู่ไหนน่ะ”

มีอยู่ไม่กี่คนที่ทราบว่าหล่อนมีความรู้อยุธยามากแค่ไหน มีอยู่ไม่กี่คนที่ทราบว่าหล่อนมาที่นี่

เห็นกระซิบกระซาบว่าจะทำเซอร์ไพรส์ สองคนนั่นอาจจะไปขนเพื่อนเก่าแก่พวกทำสตูดิโอโฆษณา แต่มาแกล้งกันแบบนี้ต้องจัดการให้เจ็บ

ลืมไปเสียสนิทว่าหล่อนเพิ่งประสบอุบัติเหตุ อาการน่าจะสาหัสพอดู และ… สิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือ…

หล่อนไม่ได้อยู่ในร่างของตัวเอง!

ร่างกายของณิรชา ไม่ใช่สิ ร่างกายของคนที่ชื่อไพลินดูอ่อนแรงเกินกว่าที่จะยืนหยัดตรงได้ แต่ก็ฝืนโซเซ ไม่นำพากับแรงรั้งของคนที่ติดตามมาอย่างตกใจ

“แม่หญิง แม่หญิงเจ้าขา รอก่อน เป็นอะไรไปเจ้าคะ”

ประตูบานใหญ่หนาหนักถูกหล่อนออกแรงเปิด เป็นไงเป็นกัน! ไม่ทราบนี่นาว่ามีพื้นกันประตูสูงขนาดนี้ ขาที่คิดว่าจะก้าวพ้นก็ไม่พ้น ไม่มีแรงเหมือนอย่างใจ

ให้ตายเถอะ! ตรงนี้…เขาเรียกกันว่าอะไรนะ

อ๋อ!…

‘ธรณีประตู!’

ทันทีที่นึกขึ้นได้ ร่างทั้งร่างก็ล้มคะมำตึงกับพื้นหน้าห้อง จับกบแบบหน้าทิ่ม ทั้งศอกทั้งเข่าเจ็บระบม เสียงดังโครมคราม

“อ๋อยยย!” ไม่รู้จะครางอะไรดี ระหว่างอุ๊ยยย! กับโอ๊ยยย!

Comments

comments

No tags for this post.
Continue Reading

More in LOVE

บทความยอดนิยม

everY

ทดลองอ่าน เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 Chapter 2.1-2.2 #นิยายวาย

ทดลองอ่าน เรื่อง เขตห้ามรักฉบับเบต้า เล่ม 1 ผู้เขียน : MINTRAN แปลโดย : ทันบี ผลงานเรื่อง : 배타적 연애 금지구역 ถือเป็นลิขสิทธิ์...

community.jamsai.com