“ส่วนหนึ่งใช่” หลี่จื้อเฟิงส่ายหน้าแล้วอธิบายให้ฟัง
“พวกเราไม่ฆ่าภรรยา” หลี่จื้อเฟิงกล่าวต่อ “คืนพระจันทร์เต็มดวงไปเกี้ยวพาราสี หลังเสร็จกิจจะมอบเขี้ยวหมาป่าให้ภรรยาชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน เจ็ดปีให้หลังกลับมาพาบุตรชายกลับเผ่า บิดาทุ่มเทเลี้ยงดูบุตรชาย พาเขาไปล่าสัตว์ สอนเขาว่าจะใช้ชีวิตอยู่บนทุ่งหญ้าได้อย่างไร ถ้าเป็นบุตรสาวจะมอบแกะให้สิบตัว หมาป่าห้าตัว และขนสัตว์สิบผืนเพื่อเก็บไว้เป็นสินเดิม ภายภาคหน้าหากบุตรสาวแต่งงานออกไปแล้วถูกข่มเหงรังแก สามารถใช้เขี้ยวหมาป่าขอความช่วยเหลือจากเผ่าเฉวี่ยนหรงได้ ถ้าบุตรเขยเลี้ยงดูลูกเมียไม่ได้ สามารถร้องขอปัจจัยเลี้ยงชีพจากเผ่าเฉวี่ยนหรงได้ ดังนั้นในบรรดาสี่สิบสองเผ่านอกด่าน สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจที่สุดก็คือมีพ่อตาเป็นชาวเฉวี่ยนหรง”
“แล้วอย่างไรต่อ” โหยวเหมี่ยวซักถาม “ภรรยาทำอย่างไร”
“เมื่อบุตรชายของชาวเฉวี่ยนหรงเติบใหญ่จนใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้แล้ว บิดาจะแยกตัวไปใช้ชีวิตสันโดษ จากนั้นขนรางวัลจากศึกสงครามกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เผ่าของภรรยา”
โหยวเหมี่ยวพยักหน้าช้าๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ฟังดูสมเหตุสมผล หลี่จื้อเฟิงเล่าต่อว่า “แต่เดี๋ยวนี้มีคนทำเช่นนี้ไม่มากแล้ว บางคนพาภรรยากลับเผ่าก็มี”
“เจ้ามีภรรยาแล้วหรือยัง” โหยวเหมี่ยวถามด้วยความสงสัย
หลี่จื้อเฟิงส่ายหน้า “เผ่าเราเรียกการเกี้ยวพาราสีว่าหมาป่าเดียวดายออกด่านและต้องอายุสิบเจ็ดปีขึ้นไป ตอนข้าถูกจับตัวมาที่จงหยวนยังไม่เป็นผู้ใหญ่”
โหยวเหมี่ยวเข้าใจแล้ว นี่คงเหมือนพิธีสวมหมวก* ของบุรุษและพิธีปักปิ่น** ของสตรีชาวฮั่น หมาป่าเดียวดายออกด่านก็คือพิธีบรรลุนิติภาวะของชาวเฉวี่ยนหรงนั่นเอง คำนี้ฟังดูเหมาะเจาะมาก เมื่อคิดภาพเด็กหนุ่มชาวเฉวี่ยนหรงอายุสิบเจ็ดปี รูปร่างแข็งแกร่งกำยำ ขี่ม้าศึกวิ่งทะยานลัดเลาะกำแพงฉางเฉิง ภายใต้จันทราทอแสงสุกสกาวทั่วแดนดิน ทุ่งหญ้ากว้างไพศาลดุจมหาสมุทร คงจะตื่นเต้นฮึกเหิมน่าดู
“แล้วเกี้ยวพาราสีอย่างไร”
“บ้างก็ร้องเพลง บ้างก็เป่าขลุ่ยเผ่าเชียง” หลี่จื้อเฟิงตอบ
ท่ามกลางแสงจันทรายามราตรี เด็กหนุ่มชาวเฉวี่ยนหรงเดินวนเวียนเป่าขลุ่ยเผ่าเชียงอยู่นอกหมู่บ้านสาว คงเป็นภาพที่ชวนเพ้อฝันและสง่าผ่าเผยอย่างบอกไม่ถูก
“ในเผ่าเฉวี่ยนหรงล้วนมีบุตรชายแค่คนเดียวอย่างนั้นหรือ”
หลี่จื้อเฟิงส่ายหน้า โหยวเหมี่ยวจึงซักถามต่อ “สองถึงสามคน?”
“ไม่แน่นอน” หลี่จื้อเฟิงขบคิดก่อนตอบ
โหยวเหมี่ยวร้องอืม “เจ้ามีพี่น้องกี่คน ตอนพวกเจ้ายังเด็กล้วนติดตามบิดาออกล่าสัตว์หรือ”
หลี่จื้อเฟิงไม่ได้เอ่ยตอบใดๆ เรื่องพวกนี้ถ้าเป็นเวลาปกติโหยวเหมี่ยวไม่ควรซักถามมาก แต่พอคิดว่ากำลังจะปล่อยอีกฝ่ายไปแล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร และถามต่อว่า “เขี้ยวหมาป่าของเจ้าเล่า”
ทว่าหลี่จื้อเฟิงกลับไม่ยอมตอบคำถาม ตอนโหยวเหมี่ยวเก็บอีกฝ่ายมาไม่มีผ้าผ่อนติดตัว ดังนั้นย่อมไม่มีเขี้ยวหมาป่า เวลานี้ของมีค่าในตัวเขาก็มีแค่หยกที่ห้อยคอเท่านั้น ซึ่งเป็นของที่มารดาของโหยวเหมี่ยวเหลือทิ้งไว้ให้ลูกชาย โหยวเหมี่ยวจึงให้หลี่จื้อเฟิงยืมเพื่อคุ้มครองชีวิต
* พิธีสวมหมวก ชาวจีนในสมัยโบราณ เมื่อผู้ชายอายุครบ 20 ปีต้องเข้าพิธีสวมหมวกเพื่อแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่
** พิธีปักปิ่น หรือพิธีปักปิ่นมวยผม จัดขึ้นเมื่อเด็กหญิงอายุครบ 15 ปี แสดงว่าก้าวเข้าสู่วัยสาว พร้อมที่จะออกเรือนแล้ว
AnAn
สิงหาคม 28, 2017 at 7:30 AM
เฮือก ตัดกันตรงนี้เหรอคะ?!โหดร้ายมาก!!!
Jamsai Editor
สิงหาคม 28, 2017 at 4:48 PM
รอติดตามบทที่ 2.2 พรุ่งนี้นะคะ
Nuch
ตุลาคม 9, 2017 at 2:26 AM
ภาษาสวยเรื่องสนุกมาก
Jamsai Editor
ตุลาคม 25, 2017 at 12:06 PM
อย่าลืมไปซื้อแพ็ค 3 เล่มที่งานมหกรรมหนังสือฯ มาอ่านด้วยนะคะ
wanida
ตุลาคม 27, 2017 at 9:20 PM
วันนี้ไปดูหนังสือมาแต่ตังไม่พอเสียดายมาก
Jamsai Editor
ตุลาคม 30, 2017 at 10:58 AM
ในเว็บก็ยังมีสินค้าอยู่นะคะ ^^