หลายปีมานี้นางฟังมามากจนไม่รู้สึกอะไรแล้ว
นางเป็นลูกที่เกิดจากภรรยาเอกก็จริง แต่กลับไม่เป็นที่รัก
หลังจากท่านแม่ตาย อนุผู้นั้นก็ถูกยกขึ้นเป็นภรรยาเอก ตอนที่นางรู้ความ ป้าชุ่ยกับนางไม่ได้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์สกุลเวินนานแล้ว แต่อาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเล็กนอกเมือง
อนุผู้นั้นเห็นนางแล้วรู้สึกรำคาญตา แม้แต่มองยังไม่อยากมอง จึงหาเหตุผลสารพัดมาโน้มน้าวนายท่านเพื่อให้ป้าชุ่ยกับนางย้ายออกจากคฤหาสน์
ปีนั้นนางอายุสามขวบ ไม่รู้เรื่องอะไร ทั้งยังไม่รู้สึกอะไร
นางไม่เดือดร้อนเรื่องกิน ไม่เดือดร้อนเรื่องเสื้อผ้า มีบ้านให้อยู่อาศัย
ภายหลังถึงรู้เรื่อง เพราะถูกคนหัวเราะที่ไม่ได้รัดเท้า เป็นเท้าตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่
ภายหลังถึงรู้เรื่อง เพราะหญิงผู้นั้นไม่แม้แต่จะเจรจาเรื่องการแต่งงานให้นาง
ภายหลังถึงรู้เรื่อง เพราะผู้คนมักจะซุบซิบนินทานาง วิพากษ์วิจารณ์ลับหลัง
นางเป็นลูกภรรยาเอก แต่กลับเป็นเด็กที่ไม่ได้รับความรัก ท่านแม่ไม่เป็นที่รัก นางเหมือนท่านแม่ ไม่ชอบยิ้ม นิสัยไม่น่ารัก จึงไม่เป็นที่รักเช่นกัน
ทุกปีนางจะได้พบนายท่านก็ช่วงปีใหม่ตอนกินข้าวส่งท้ายปี
แต่ก็เท่านั้นแหละ
ชายคนนั้นไม่ชอบนาง แน่นอนว่าหญิงคนนั้นยิ่งไม่เปิดโอกาสให้นางได้เป็นที่รัก มักจะไม่ปล่อยให้นางได้เอ่ยปากด้วยซ้ำ บางครั้งแม้จะเข้าไปคารวะนายท่านยังไม่อนุญาต
หญิงคนนั้นมีลูกสี่คน หญิงสามชายหนึ่ง เด็กชายตัวขาวอวบอ้วน เห็นใครก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี ใบหน้าน่าเอ็นดูทั้งยังเฉลียวฉลาด ทำให้นายท่านมีความสุขมาก ดวงตายิ่งมองไม่เห็นนางซึ่งเป็นลูกสาวที่ภรรยาเอกทิ้งเอาไว้ ต่อให้บางครั้งนึกอยากจะมองมาก็ถูกหญิงผู้นั้นเอาลูกชายสุดที่รักของพวกเขามาขวางหน้า พริบตาเดียวก็ลืมตัวตนของนางไปแล้ว
ป้าชุ่ยไม่อาจเข้าไปในห้องโถง ได้แต่แอบมองที่หน้าต่าง กลับมาแล้วก็มักจะบ่นหลายคำ
แรกๆ นางฟังแล้วยังนึกโกรธ แต่ภายหลังกลับเริ่มชินเสียแล้ว
ชายคนนั้นไม่สนใจเรื่องนี้หรอก หากเขาใส่ใจลูกสาวคนนี้ คงไม่ปล่อยให้สถานการณ์กลายเป็นเช่นนี้ ต่อให้นางไปแย่งชิง จะชิงอะไรมาได้เล่า
รีบออกเรือนให้เร็วหน่อยหรือ
ตอนอายุสิบห้าและเพิ่งเข้าพิธีปักปิ่น* นางเคยคิดว่าจะได้ออกเรือน
ภายหลังพบว่าหญิงผู้นั้นคอยขัดขวางอยู่เสมอ จึงเลิกคิดเรื่องนี้ไป
นางมีเท้าธรรมชาติ ต่อให้บ้านเดิมร่ำรวยเพียงใด ทุกคนก็ต้องรู้ว่านางไม่เป็นที่รักของบ้านเดิม แต่งไปแล้วย่อมไม่มีทางได้รับความรัก ตอนท่านแม่แต่งมา สินเจ้าสาวไม่มากนัก มีเพียงตำราไม่กี่ตู้ ตอนป้าชุ่ยพานางย้ายไปอยู่บ้านพักนอกเมือง ตำราเหล่านั้นก็ถูกขนมาด้วย
ป้าชุ่ยเป็นคนเลี้ยงดูนางจนเติบใหญ่ สอนนางให้รู้หนังสืออ่านตำรา สอนนางปักผ้าและทำงานฝีมือ แม้ป้าชุ่ยจะชอบบ่นเป็นบางครั้ง แต่กลับจัดการเรื่องทุกอย่างเป็นอย่างดี
ตอนนั้นเดิมทีนางยังคิดว่าอาศัยอยู่ที่บ้านพักนอกเมืองก็ไม่แย่ตรงไหน
ทว่าก่อนหน้านี้ป้าชุ่ยกลับล้มป่วยลง
ตอนนั้นนางพยายามกลับไปพูดกับแม่รองที่คฤหาสน์ อยากเชิญหมอมาตรวจดูอาการของป้าชุ่ย ถึงได้รู้ว่าหญิงผู้นั้นใจดำเพียงใด สามารถใจดำได้เพียงใด
‘ป่วย?’
‘เชิญหมอ?’
‘ติงชุ่ยไม่ใช่คนสกุลเวินของเรา ตอนนั้นแม่เจ้าพูดไว้อย่างชัดเจนว่าติงชุ่ยไม่ใช่สาวใช้ที่ออกเรือนมากับนาง แต่เป็นพี่น้อง พวกเราเลี้ยงดูนางมาเปล่าๆ ตั้งหลายปี ของกินของใช้ไม่เคยขาดไปสักอย่าง นับว่านางกำไรแล้วล่ะ’
‘คุณหนูคนดี บ้านของเรามีทั้งเด็กเล็กและคนแก่ มีคนนับร้อยชีวิตต้องเลี้ยงดู นายท่านลำบากลำบนหาเงินเช่นนี้ มิใช่เพื่อเอามาให้เจ้าถลุงแบบนี้นะ’
นางจำได้ว่าตัวเองยืนอยู่หน้าห้องโถงกว้างขวาง หญิงผู้นั้นสวมกระโปรงปักดิ้นทอง เท้าคู่เล็กสวมรองเท้าปักห้าสี นั่งอยู่บนเก้าอี้พนักวงโค้ง** ใบหน้าทาแป้งกับชาดอย่างดี นิ้วมือไว้เล็บยาว มองนางด้วยดวงตาที่สีขาวดำตัดกันชัดเจน ริมฝีปากสีแดงจัดจิบน้ำชาร้อนๆ แล้วเอ่ยถ้อยคำเย็นชาเหล่านั้นออกมา
‘ก็แค่ถูกไอเย็นมิใช่หรือ นอนพักไม่กี่วันก็หายแล้ว จำเป็นต้องเชิญหมอด้วยหรือไร’
นางพูดอะไรไม่ออก รู้สึกเพียงหัวใจหนาวเหน็บ
มองสายตาเยียบเย็นของหญิงผู้นั้นแล้ว นางตระหนักว่าอีกฝ่ายไม่เพียงเกลียดท่านแม่ของนาง เกลียดนาง แต่ยังเกลียดป้าชุ่ยด้วย
นางไม่พูดอะไรอีก หมุนตัวออกจากคฤหาสน์หลังใหญ่ไป
นางดูแลป้าชุ่ยสุดความสามารถ แต่อาการของป้าชุ่ยแย่ลงทุกที ทั้งอาเจียนและท้องเสีย จวบจนกลางดึกในคืนหนึ่ง ป้าชุ่ยอ่อนเพลียจนเอ่ยคำพูดไม่ออกแม้แต่คำเดียว
เห็นดังนั้นนางจึงเอาเสื้อเก่ามาแก้เป็นเสื้อผ้าบุรุษ ค้นลูกปัดหยกของท่านแม่ออกมา พอฟ้าสางก็เปลี่ยนเสื้อผ้า ตัดสินใจเอาลูกปัดเส้นนี้ไปจำนำที่โรงจำนำ
แม้ลูกปัดหยกจะเป็นของรักของหวงของท่านแม่ แต่มิใช่ของรักของหวงของนาง
ทว่าป้าชุ่ยเป็นป้าชุ่ยของนาง