บทที่ 1
ไม่นานมานี้แคว้นต้าฉินมีเรื่องน่ายินดี
เยี่ยเจา แม่ทัพเจิ้นเป่ย (แม่ทัพพิทักษ์เหนือ) ทำสงครามนานนับแปดปี ในที่สุดก็ตีเมืองหลวงของชาวหมานตะวันตก* แตก ล้างอายที่เคยตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ไม่เพียงชิงดินแดนกลับคืนมา ยังบีบให้อีกฝ่ายสวามิภักดิ์เป็นข้ารับใช้
เมื่อข่าวดีแพร่สะพัดมาถึงก็สร้างความปลาบปลื้มยินดีไปทั่วเมืองหลวง บรรดาขุนนางบุ๋นบู๊พากันแซ่ซ้องสดุดี หมายยกย่องเทิดทูนแม่ทัพใหญ่ผู้นี้ให้เป็นวีรบุรุษอันดับหนึ่งในใต้หล้ากันจนแทบรอไม่ไหว จักรพรรดิแห่งต้าฉินเร่งแต่งตั้งเยี่ยเจาขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพใต้หล้า และมีคำสั่งให้ยาตราทัพกลับมารับบำเหน็จรางวัล
ไม่คาดว่าอีกฝ่ายจะมีม้าเร็วถือสารมาถวาย ความว่า…
แม่ทัพเจิ้นเป่ยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและขอพระราชทานอภัยกราบทูลด้วยความสัตย์ว่าตนเป็นสตรี
ข่าวนี้ทำให้ผู้คนตื่นตะลึงไปทั่วแคว้น เซ็งแซ่ไปทั้งแผ่นดิน ครั้นจักรพรรดิได้สดับยังถึงกับเผลอพ่นชาโสมใส่ซ่งกุ้ยเฟย** ผู้เป็นอัครชายาจนเปียกเปื้อนไปทั้งกาย
หากจะกล่าวถึงสกุลเยี่ยนี้ถือเป็นตำนานเล่าขานบทหนึ่ง นับแต่สถาปนาแคว้นต้าฉินขึ้นก็รับราชการทหารสืบกันมาทุกรุ่น พลีชีพเพื่อชาติไปแล้วทั้งสิ้นสิบสามคน เป็นตระกูลที่มีความซื่อสัตย์ภักดีต่อชาติอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เจิ้นกั๋วกง*** (กั๋วกงพิทักษ์แผ่นดิน) แก่ผู้นำตระกูล
แปดปีก่อนชาวหมานจินผู้นำในแถบหมานตะวันตกเข้ามารุกราน เข่นฆ่าเผาผลาญปล้นสะดม ตีหัวเมืองที่ภูเขาเฮยซานแตกไปสิบแปดเมืองติดต่อกัน ในครั้งนั้นเยี่ยจง แม่ทัพใหญ่ผู้แกล้วกล้าตั้งมั่นรักษาการณ์อยู่ที่โม่เป่ย**** รับพระราชโองการรี้พลสามสิบหมื่นออกสู้ศึก ก่อนออกเดินทางจักรพรรดิยังพระราชทานงานเลี้ยงที่หอป่าหยกพราว อีกทั้งพระราชทานป้ายเหล็กอักษรแดง* และแผ่นจารึกจิตภักดิ์ตอบแผ่นดิน** ให้เขา
เยี่ยเจา บุตรชายคนเล็กของเยี่ยจงในยามนั้นมีอายุเพียงสิบหกปีก็อาสาเป็นแนวหน้านำทัพไปต่อสู้ พากองทหารม้าเกราะเหล็กห้าพันใช้อุบายแยบยลเข้าต่อตีทัพใหญ่สองหมื่นของหมานจินจนแตกพ่าย จับกุมฮูฮูเทียเอ่อร์ ขุนศึกของหมานจินเป็นเชลย เมืองหลวงได้รับข่าวชัยชนะก็ยินดียกใหญ่ แต่งตั้งเยี่ยเจาเป็นนายกองตรวจการเจิ้นเวย (นายกองตรวจการเหิมหาญ) ทว่าเยี่ยจงผู้เป็นบิดากลับปฏิเสธ
* หมาน แปลว่าป่าเถื่อน โหดร้าย ชาวจีนใช้เป็นคำเรียกชนเผ่าในเชิงเหยียดหยาม ซึ่งชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่มักอยู่ทางใต้ของดินแดนภาคกลาง จึงมักเรียกว่าหมานใต้ (หนานหมาน) แต่บางยุคบางสมัยก็มีหมานตะวันตก (ซีหมาน) และหมานตะวันออก (ตงหมาน)
** ลำดับศักดิ์ของสตรีในวังสมัยโบราณ โดยทั่วไปเรียงตามลำดับดังนี้ หวงโฮ่วหรือฮองเฮา (อัครมเหสี) ถือเป็นประมุขของฝ่ายใน แต่ในรัชกาลหนึ่งอาจไม่แต่งตั้งใครขึ้นเป็นก็ได้ รองลงมาคือกุ้ยเฟย (อัครชายา) ชายาชั้นเฟย (ราชชายา) เจ้าจอมชั้นผิน (พระสนมเอก) เจ้าจอมชั้นกุ้ยเหริน (พระสนม) รองจากนั้นคือนางกำนัลและนางในทั่วไปซึ่งแบ่งชั้นและมีคำเรียกแตกต่างกันตามยุคสมัย
*** กั๋วกง บรรดาศักดิ์ในสมัยโบราณ เป็นตำแหน่งซึ่งกษัตริย์แต่งตั้งให้เชื้อพระวงศ์หรือผู้มีความชอบ บรรดาศักดิ์ห้าขั้นรองจากชั้นอ๋องคือ กง โหว ป๋อ จื่อ หนาน ซึ่งแต่ละสมัยมีคำเรียกและลำดับแยกย่อยต่างกัน กั๋วกงถือเป็นขั้นหนึ่ง เป็นขั้นสูงสุดในลำดับกง (กงเจวี๋ย)
**** โม่เป่ย คำเรียกทะเลทรายทางเหนือของที่ราบสูงมองโกเลีย
* ป้ายเหล็กอักษรแดง ชาวจีนทั่วไปรู้จักในนาม ‘ป้ายทองเว้นโทษตาย’ บ้างเป็นแผ่นโค้งอย่างกระเบื้อง บ้างเป็นทรงคล้ายปล้องไผ่ผ่าครึ่ง เป็นของที่จักรพรรดิพระราชทานให้ผู้มีคุณูปการแก่บ้านเมือง
** แผ่นจารึกจิตภักดิ์ตอบแผ่นดิน เป็นป้ายทำจากโลหะหรือไม้ที่สลักตัวอักษรคำว่า ‘จิตภักดิ์ตอบแผ่นดิน’ ใช้แขวนประดับเหนือประตูหรือบนผนังเพื่อประกาศเกียรติคุณว่าเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งเพื่อแผ่นดิน