ซย่าอวี้จิ่นพักเรื่องที่ห้องตัวเองถูกตกแต่งประดับประดาใหม่ลงก่อนชั่วคราว ไม่ติดใจเอาความอีก เพียงวางตำรากองหนึ่งลงบนโต๊ะอย่างแรง บอกกล่าวจุดประสงค์ที่มาว่าเขาจะรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหลักจริยาหญิงให้ด้วยตัวเอง
ทั้งคู่บอกกล่าวให้อีกฝ่ายรับทราบถึงระดับสติปัญญาความรู้ของตัวเองก่อน เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่ามิใช่พวกอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ซย่าอวี้จิ่นร่างกายอ่อนแอตั้งแต่เด็ก ไม่อาจคร่ำเคร่งตรากตรำได้ เรียนหนังสือวันหนึ่งก็ต้องหยุดพักสามวัน ทว่าเขาเป็นคนฉลาดหัวไวมาแต่เกิด ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของพระพันปี อาจารย์ที่จ้างมาสอนล้วนเป็นบัณฑิตใหญ่แห่งยุคที่รอบรู้และเป็นพหูสูตอย่างแท้จริง แม้เขาจะร่ำเรียนมาแบบกระท่อนกระแท่นก็ยังมีความรู้เกือบเทียบชั้นผู้สอบได้ซิ่วไฉ** หากจะสอนตำราจำพวกคัมภีร์สามอักษร*** ก็หาใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจ
ขณะที่เยี่ยเจาชื่นชอบฝึกยุทธ์ตั้งแต่เด็ก พอเห็นตำราก็ปวดศีรษะ กอปรกับมีนิสัยหยิ่งผยองและอารมณ์ร้อน จึงเกิดเรื่องราวระหว่างการศึกษาเล่าเรียนมากมายพอจะเขียนรวบรวมขึ้นเป็นบันทึกประวัติศาสตร์นองเลือดเคล้าน้ำตาของบรรดาอาจารย์ได้
นับแต่เริ่มร่ำเรียนเขียนอ่านเมื่ออายุแปดขวบ นางยั่วโมโหอาจารย์จนบอกศาลาไปราวๆ ปีละห้าคน สุดท้ายเนื่องจากบิดาของหูชิงมีฐานะยากจนมากจริงๆ ทั้งยังคิดจะผูกสัมพันธ์เพื่อให้บุตรชายได้มีอนาคตก้าวหน้า เขาจึงกล้ำกลืนความอัปยศอยู่รับหน้าที่ต่อไปอย่างอดทนอดกลั้นตามคำวิงวอนขอร้องของเยี่ยจง สิ้นเปลืองเวลาสองปีกว่า สรรหาทุกวิธีมาสอนนางด้วยความลำบากแสนสาหัส ในที่สุดเยี่ยเจาก็ท่องจำ ‘ตำราพันอักษร’ จนขึ้นใจได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้นางไม่ถึงขั้นไม่รู้หนังสือ
กระทั่งหลังจากนำทัพออกศึก เยี่ยเจาถึงได้ประจักษ์ว่าตัวเองมีความรู้น้อยนิดจนน่าใจหาย เมื่อสถานการณ์บังคับ นางจำใจต้องให้หูชิงรับหน้าที่เป็นอาจารย์ต่อจากบิดา พยายามเร่งสอนวิชาการทหารและประวัติศาสตร์ให้เป็นการด่วน
เมื่อเทียบกับ ‘อาจารย์หู’ ผู้มีวาจาสนุกสนานแฝงอารมณ์ขัน อธิบายเรื่องลึกซึ้งให้เข้าใจได้ง่ายแล้ว ฝีมือการสอนของ ‘อาจารย์ซย่า’ นั้นแทบจะแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน แม้เขาจะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี พูดอธิบายอย่างเอาจริงเอาจังอย่างมาก ทว่าจนปัญญาที่เขาทำได้แต่สอนตามตำรา ไม่รู้จักการอุปมาสาธก หัวข้อที่เลือกมาก็น่าเบื่อเหลือแสน
เดิมทีเยี่ยเจาใช่ว่าจะเป็นผู้มีความอดทนในการเล่าเรียน อีกทั้งเรื่องของสตรีก็ยิ่งไม่สนใจ นางฟังแล้วลอบหาวหวอดๆ เพียงเห็นแก่ที่อาจารย์รูปงามชวนน้ำลายหกจึงกัดด้ามพู่กันข่มใจไว้ พยายามแสร้งทำท่าตั้งอกตั้งใจพลางแอบชำเลืองมองดาบฝูซางที่ตัวเองเพิ่งได้มาใหม่ซ้ำๆ อย่างห้ามใจไม่อยู่และใคร่ครวญว่าอีกประเดี๋ยวจะไปลองดาบที่ไหนดี
อาจารย์ซย่าสอนจนคอแหบคอแห้ง เคาะโต๊ะถามขึ้นด้วยสีหน้าขึงขัง
“อะไรคือเรือนสามน้ำสี่ เจ้าเข้าใจหรือไม่ ไหนทวนให้ข้าฟังอีกทีซิ”
ลูกศิษย์เยี่ยตื่นขึ้นจากภวังค์ ได้ยินเพียงครึ่งเดียวก็มองเขาอย่างงุนงง นิ่งเป็นเบื้อใบ้อยู่พักใหญ่ก่อนจะถามขึ้นอย่างไม่แน่ใจ
** การสอบขุนนางในสมัยโบราณ (เคอจวี่) แบ่งเป็นฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ โดยสอบเลื่อนทีละระดับขั้น เริ่มจากระดับอำเภอหรือจังหวัดเรียกว่าการสอบถงซื่อ ผู้สอบผ่านได้เป็นซิ่วไฉ มีสิทธิ์เข้าร่วมสอบเซียงซื่อในระดับมณฑล หากสอบผ่านจะได้เป็นจวี่เหริน ซึ่งต้องเข้ามาสอบระดับฮุ่ยซื่อที่เมืองหลวงเพื่อขึ้นเป็นจิ้นซื่อ ได้บรรจุเข้ารับราชการ เมื่อผ่านการสอบทั้งสามระดับ จะได้เข้าสอบหน้าพระที่นั่งคือการสอบเตี้ยนซื่อ เพื่อคัดเป็นบัณฑิตเอกสามชั้น ซึ่งบัณฑิตเอกขั้นหนึ่งมีสามคน เรียงตามคะแนนเรียกว่า จ้วงหยวน (จอหงวน) ปั๋งเหยี่ยน และทั่นฮวา
*** คัมภีร์สามอักษร หรือซานจื้อจิง เป็นตำราเรียนแรกเริ่มสำหรับเด็กมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เรียกชื่อตามลักษณะคำประพันธ์ซึ่งในหนึ่งวรรคประกอบด้วยตัวอักษรสามตัว